ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความตั้งใจสูงสุดของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คือการดูแล-ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ผู้ก่อตั้ง-บริหาร สปสช. เคยมีความฝันร่วมกันว่า อยากทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองมีความมั่นใจ-มีความภาคภูมิใจ และได้รับ “สิทธิพิเศษ” รวมถึงบริการแบบ “ลักชัวรี” (Luxury)

สอดคล้องกับผู้บริหารหน่วยบริการ (โรงพยาบาล) รัฐหลายแห่ง ที่นำเม็ดเงินจากกองทุนบัตรทองไปบริหารจัดการโรงพยาบาล จนเกิดเป็นการให้บริการแบบ “พรีเมียม” หนึ่งในนั้นคือโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ที่ผู้อำนวยการคนหนุ่มประกาศว่า “จะทำให้โรงพยาบาลรัฐทัดเทียมโรงพยาบาลเอกชน แต่ให้บริการฟรี”

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ขออธิบายบทบาทหน้าที่ของ สปสช. แบบรวบรัด กล่าวคือ สปสช. มีหน้าที่บริหารกองทุน ค้นหาสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ที่มีความคุ้มค่า เข้ามาบรรจุในชุดรายการสิทธิประโยชน์เพื่อให้คนใช้บัตรทองได้รับความครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ

สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญา (รับรักษาผู้ป่วยบัตรทอง) เมื่อโรงพยาบาลเหล่านั้นรับงบประมาณไปแล้ว ก็จะต้องจัดบริการ-ให้การรักษาตามเกณฑ์ที่ สปสช. ระบุ เช่น ต้องให้บริการครอบคลุมโรคดังต่อไปนี้ ต้องรักษาด้วยวิธีการและขั้นตอน 1-2-3-4-5 ดังนี้ หรือการจ่ายยาก็ต้องจ่ายอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และปลอดภัยดังนี้

กล่าวโดยรวบรัด สปสช. มีหน้าที่กำหนดกรอบและสนับสนุนงบประมาณ ส่วนหน่วยพยาบาลมีหน้าที่จัดบริการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจาก (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. เรื่อง “หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ พ.ศ. ...” ที่รอการลงนามจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. อยู่ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไปนั้น

สะท้อนว่า สปสช. ยังคงเดินหน้ายกระดับกองทุนบัตรทอง และสิทธิประโยชน์ให้ผู้ใช้สิทธิไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ในซีรีย์ “เจาะแฟ้มการบริหาร ‘บัตรทอง’ ปี 66” จะขอเริ่มต้นทำความเข้าใจเรื่อง “การจัดสรรงบประมาณ” ของ สปสช. ก่อน

ทุกวันนี้ เม็ดเงินในกองทุนบัตรทองราว 2 แสนล้านบาท ถูกแบ่งออกเป็น 10 รายการ หนึ่งในนั้นคือ “ค่าเหมาจ่ายรายหัว” ซึ่งรวมค่าแรงของหน่วยบริการของรัฐในระบบบัตรทอง จำนวน 6.1 หมื่นล้านบาท เอาไว้ด้วย

​นั่นหมายความว่า กองทุนบัตรทองมีงบประมาณสำหรับดูแลสุขภาพประชาชน (ทั้งการรักษาพยาบาลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง และการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ) รวมทั้งสิ้น 1.42 แสนล้านบาท

เงินจำนวน 2 แสนล้านบาท ถูกใช้สำหรับ 10 รายการ ประกอบด้วย

1. บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 161,602 ล้านบาท
2. บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 3,978 ล้านบาท
3. บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 9,952 ล้านบาท
4. บริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง 1,071 ล้านบาท
5. ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 1,490 ล้านบาท
6. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน 1,265 ล้านบาท
7. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ 188 ล้านบาท
8. ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,772 ล้านบาท
9. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 437 ล้านบาท
10. ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 21,381 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากโฟกัสที่งบ “เหมาจ่ายรายหัว” ซึ่งเป็นงบประมาณหลักที่หน่วยบริการนำไปหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง พบว่าในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่หัวละ 3,901.21 บาท สำหรับผู้มีสิทธิ 47.72 ล้านคน

เงินรายหัวนั้น ก็จะถูกซอยย่อยลงไปอีกเป็น 6 หมวด ได้แก่

1. บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป 1,344 บาท
2. บริการผู้ป่วยในทั่วไป 1,477 บาท
3. บริการกรณีเฉพาะ 399 บาท
4. บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 17 บาท
5. บริการการแพทย์แผนไทย 19 บาท
6. ค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน (ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนเป็นค่าเสื่อมราคาของหน่วยบริการ) 128 บาท

หากเทียบเคียงจากปีงบประมาณปี 2565 หรือปีที่แล้ว พบว่าเม็ดเงินโดยรวมปี 2566 ที่ สปสช.คาดว่าจะได้รับการจัดสรร (ผ่าน ครม. / สภาฯ วาระ 1 แล้ว) สูงกว่าเดิม

ปี 2565 สปสช. ได้รับจัดสรร 198,891 ล้านบาท
ปี 2566 คาดว่าจะได้รับจัดสรร 204,140 ล้านบาท

หักเงินเดือนบุคลากรออก เหลือดูแลประชาชน

ปี 2565 เหลือเงิน 140,550.19 ล้านบาท
ปี 2566 เหลือเงิน 142,297.93 ล้านบาท

ค่าเหมาจ่ายรายหัว (รวม/ไม่รวมเงินเดือนบุคลากร)

ปี 2565 เหมาจ่ายหัวละ 3,798.61 / 3,329.22 บาท
ปี 2566 เหมาจ่ายหัวละ 3,901.21 / 3,385.98 บาท

ทั้งนี้ คาดว่างบประมาณในปี 2566 จะได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5,248.24 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 2.6% ของงบประมาณเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้คือความพยายามของ สปสช. ในการผลักดันนโยบาย เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

แน่นอน ปลายทางของความสำเร็จอยู่ที่ ผู้บริหารประเทศ - ครม. และ รมต. ที่มีความเข้าใจ จริงใจ และมีความกล้าหาญในการตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง