ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาธิการ สปสช. เปิดรายละเอียดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2562 ได้รับทั้งสิ้น 1.81 แสนล้าน เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน พบ “งบรายหัว-กองทุนเฉพาะ” ปรับเพิ่มขึ้น พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ใช้สิทธิอีกหลายรายการ

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในหัวข้อ “การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 จุดเน้นและประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งอยู่ในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2562 เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2561 ตอนหนึ่งว่า ในปีงบประมาณ 2562 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้งบประมาณทั้งหมด 181,584 ล้านบาท เมื่อหักเงินเดือนบุคลากรออกไปแล้วจะเหลืองบประมาณรายหัวประชากร (งบเหมาจ่ายรายหัว) 166,445.22 ล้านบาท หรือคิดเป็นหัวละ 3,426.56 บาท

นอกจากนี้ สปสช.ยังมีงบประมาณสำหรับดำเนินการในส่วนอื่นๆ ประกอบด้วย งบผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 3,046 ล้านบาท งบผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 8,281 ล้านบาท งบควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง 1,135 ล้านบาท งบเพิ่มเติมโรงพยาบาลพื้นที่กันดารเสี่ยงภัยและจังหวัดชายแดนใต้ 1,490 ล้านบาท และงบผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 916 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณางบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 3,426.56 บาท เทียบกับงบประมาณปี 2561 จะพบว่าทั้งงบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน กรณีเฉพาะ และการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น คือ 1.9% 7.9% 2.9% และ 3.8% ตามลำดับ

นพ.การุณย์ กล่าวว่า หลักการสำคัญในการปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนปี 2562 จะมุ่งเน้นใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชน 2. สนับสนุนการบริการของหน่วยบริการที่อยู่ในระดับ และ 3. ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายต่างๆ ในระดับพื้นที่ โดยทั้งหมดสอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ คือมีสุขภาพดีทุกช่วงวัย และด้านสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งก็คืการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับตัวอย่างประเด็นที่มีความเปลี่ยนแปลงในปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจ่ายเงินและการเบิกจ่าย อาทิ 1.งบผู้ป่วยนอก ซึ่งมีบริการตรวจคัดครองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ 2.งบผู้ป่วยใน มีการกำหนดอัตราจ่ายเบื้องต้น สำหรับบริการในเขตและบริการเด็กแรกเกิดปกติที่น้ำหนัก 1,500 กรัมขึ้นไป 3.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีน 5 โรค เพิ่ม การจ่ายค่าบริการแบบ Free schedule เพิ่ม 2 รายการ

4.บริการกรณีเฉพาะ เช่น หน่วยบริการสามารถเบิกวัคซีนพิษสุนัขบ้านแทนการเหมาจ่ายในงบบริการผู้ป่วยนอก เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านยารายการ จ.(2)จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ยาป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และยารักษาโรคหลอดเลือดดำในจอตาอุดตัน ฯลฯ 5.ปรับปรุงเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ได้แก่ การนำร่องโครงการความร่วมมือการจัดบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ การบริการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง บริการแพทย์ประจำครอบครัว ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ได้มอบหมายให้ศึกษาเพื่อปรับปรุงแนวทางการจ่ายในปี 2563-2564 ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบูรณาการงบค่าบริการที่จัดบริการในชุมชน เช่น การดูแลผู้ป่วยระยะยาว จิตเวชเรื้อรังในชุมชน การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง การบริการฟื้นฟูสรรถภาพในชุมชน การบริการแพทย์แผนไทย นโยบายที่เหมาะสมในการให้เคมีบำบัดหรือฮอร์โมน หรือรังสีรักษา การใช้ DRG เวอร์ชั่น 6.3 (ปัจจุบันใช้เวอร์ชั่น 5) รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมป้องกันโรคร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีและเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด