ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ 'งบประมาณกองทุนบัตรทอง' ประจำปี 2568 รวม 2.35 แสนล้าน ชี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าเหมาจ่ายรายหัว ขณะที่ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคยังมีสัดส่วนน้อย เห็นสมควรให้ สธ. เร่งดำเนินการส่งเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ผู้ป่วยระยะยาว


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2567 ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในวงเงิน 235,842,800,900 บาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.)

สำหรับงบประมาณดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 47,157,000 คน วงเงิน 181,297,444,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 15,772,291,400 บาท คิดเป็น 9.53% คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,844.55 บาทต่อผู้มีสิทธิ ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร

2. ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ประกอบด้วย ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,519,721,000 บาท และค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี วงเงิน 689,724,500 บาท รวมวงเงิน 4,209,445,500 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 192,349,800 บาท หรือคิดเป็น 4.79%

3. ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วงเงิน 13,506,166,200 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 698,867,600 บาท หรือคิดเป็น 5.46%

4. ค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน และผู้ป่วยโรคหอบหืด) ประกอบด้วย 3 รายการ ได้แก่ งบบริการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง วงเงิน 1,169,228,400 บาท งบบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน วงเงิน 78,642,000 บาท และงบบริการเพื่อลดการนอนในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหืด (Asthma) วงเงิน 51,053,900 บาท รวมวงเงิน 1,298,924,300 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 101,308,600 บาท หรือคิดเป็น 8.46%

5. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 1,490,288,000 บาท

6. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ประกอบด้วย 1) บริการด้วยทีมแพทย์ประจำครอบครัว วงเงิน 236,509,300 บาท 2) บริการที่ร้านยา วงเงิน 249,320,700 บาท 3) บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล วงเงิน 695,990,900 บาท 4) บริการสาธารณสุขระบบทางไกล วงเงิน 851,210,000 บาท 5) บริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน วงเงิน 32,945,500 บาท 6) บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ วงเงิน 40,512,000 บาท และ 7) ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านการพยาบาล วงเงิน 73,739,600 บาท รวมวงเงิน 2,180,228,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 117,440,100 บาท หรือคิดเป็น 5.69%

7. ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย 1) ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 2,522,207,000 บาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 28,394,000 บาท หรือคิดเป็น 1.11% 2) ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน วงเงิน 2,900,246,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 139,692,000 บาท หรือคิดเป็น 5.06% 3) ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด วงเงิน 530,968,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 256,000 บาท หรือคิดเป็น 0.05%

8. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ วงเงิน 522,923,000 บาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 119,885,300 บาท หรือคิดเป็น 18.65% 9. ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ จำนวน 66,371,000 คน วงเงิน 25,383,960,500 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,339,915,100 บาท หรือคิดเป็น 5.57% ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร

อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วงเงิน 2,238,836,200 บาท ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัดและสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ดำเนินการและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิถาพ ในด้านการบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี บริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน บริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว ตามมาตรา 18 (14) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และควบคุมดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปตามการมอบหมายดังกล่าวด้วย

ในส่วนของเนื้อหาจากมติที่ประชุม ครม. ยังมีการระบุเพิ่มเติมว่า เนื่องจากปริมาณการใช้บริการและอัตราค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ผู้ป่วยของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว อีกทั้งค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 10.76% ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อย

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป จึงเห็นสมควรที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเร่งดำเนินการและให้ความสำคัญในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ผู้ป่วยในระยะยาว รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน และพิจารณาให้ความสำคัญกับความพร้อมและศักยภาพของผู้ให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีบริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และมีการติดตามประเมินผลตามตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลลัพธ์การให้บริการสาธารณสุข เพื่อให้มีความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ รวมถึงเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับประชาชนในท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน เห็นควรที่ สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะพิจารณาให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งให้ สปสช. บริหารจัดการและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณค่ารักษาพยาบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หากมีงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินงานหรือมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสม ก็เห็นสมควรให้นำเงินดังกล่าวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาสมทบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นลำดับแรก

ทั้งนี้ ขอให้ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามนัยมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ