ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความขอบคุณผู้สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรในการทำโครงการด้านสุขภาพทั่วโลก พร้อมเน้นย้ำบทบาทของผู้สนับสนุนเหล่านี้ในการยกระดับระบบสุขภาพ และพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

WHO เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ องค์ความรู้ และทรัพยากรอื่นๆ จากรัฐบาลและองค์กรต่างๆทั่วโลก เพื่อจัดทำโครงการสุขภาพ และให้ความช่วยเหลือประเทศที่ยังมีช่องว่างด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ

1

หลายโครงการให้ความสำคัญกับบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นหน้าด่านของระบบสุขภาพ ที่ช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรค รวมทั้งคัดกรองผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาพยาบาล

บทความเผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลก ได้ยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและผู้ให้การสนับสนุน ที่มีผลกระทบในเชิงบวกต่อระบบสุขภาพในประเทศต่างๆ ได้แก่

สหรัฐอเมริกา: เพิ่มจำนวนบุคลากรสุขภาพ

ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจับมือกับองค์การอนามัยแพนอเมริกัน (Pan American Health Organization หรือ PAHO) ทำโครงการอบรมบุคลากรด้านสุขภาพกว่า 500,000 คน ภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มความรู้และความสามารถของบุคลากร

“หากไม่มีบุคลากรด้านสุขภาพ ระบบสุขภาพจะไม่สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้ ประชาชนก็จะไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ ระบบไม่มีความพร้อมรับมือโรคระบาด” พญ.คาริสซ่า เอเทียน (Carissa F. Etienne) ผู้อำนวยการ PAHO กล่าว

อีกด้านหนึ่ง กองพลสุขภาพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาล ก็มีแผนเพิ่มบุคลากรสุขภาพให้ได้อีก 600,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

ซูดาน: เปิดศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิ

องค์การอนามัยโลกให้ทุนรัฐบาลซูดานและองค์กรด้านสุขภาพในประเทศ เพื่อสร้างศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิ ทดแทนคลีนิกที่โดนทำลายระหว่างสงครามการสู้รบในปี 2548 เป็นต้นมา

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เพิ่งมีการเปิดศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิที่เมืองอาบูกอว์ ด้วยความร่วมมือจากชุมชนที่ต้องการเข้าถึงการดูแลรักษาและยารักษาโรค โดยศูนย์ดังกล่าวสร้างขึ้นบนพื้นที่ของคลีนิกสุขภาพเดิมที่โดนทำลายไปก่อนหน้านี้

2

ซีเรีย: รถเเพทย์เคลื่อนที่ ต้านวัณโรคและเอชไอวี

กองทุนโลก (Global Fund) และ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration หรือ IOM) ลงขันร่วมกันให้องค์การอนามัยโลกขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนรถแพทย์เคลื่อนที่ในซีเรีย

โครงการนี้เน้นให้บริการในพื้นที่ห่างไกลที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ทั้งยังสนับสนุนงบในการจัดหาเครื่องเอ็กซเรย์ติดตั้งบนรถ และให้ค่าตอบแทนแก่หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่แล็บ และคนขับรถ

แทนซาเนีย: คัดกรองโรคโปลิโอด้วยเครื่องมือดิจิทัล

ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เกิดการระบาดของโรคโปลิโอในมาลาวี ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของแทนซาเนีย รัฐบาลแทนซาเนียจึงต้องเร่งทำการตรวจคัดกรองโรคในกลุ่มประชากรต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโปลิโอข้ามพรมแดน

3

องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนงบประมาณให้แทนซาเนีย ทำการยกระดับการคัดกรองและติดตามโรคด้วยเครื่องมือดิจิทัล เช่น การจัดทำระบบฐานข้อมูลสุขภาพออนไลน์ และการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ

บังกลาเทศ: ให้วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค

องค์การอนามัยโรค เครือข่ายกาวี (Gavi) และองค์กรที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนหน่วยงานต่างๆในธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ ในการให้วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคกับประชากรมากกว่า 2.4 ล้านคน ถือเป็นการให้วัคซีนอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ

อหิวาตกโรคเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตคนเกือบ 100,000 รายในแต่ละปี กลุ่มองค์กรเพื่อการควบคุมอหิวาตกโรค (Global Task Force on Cholera Control) ตั้งเป้าหมายหยุดยั้งการเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคให้ได้ 90% ภายในปี 2573 และขจัดโรคให้สิ้นซากใน 20 จาก 47 ประเทศที่มีภาระโรคสูง รวมทั้งในบังกลาเทศ

สหภาพยุโรป: ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ

องค์การอนามัยโลกและสหภาพยุโรปวางวิสัยทัศน์ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิร่วมกัน โดยใช้บทเรียนจากวิกฤติโควิด 19 ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ประเทศที่มีระบบสุขภาพปฐมภูมิแข็งแรง มีแนวโน้มจัดการโรคระบาดได้ดีกว่า

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำหรับประเทศขนาดเล็กในสหภาพยุโรป ที่สามารถขอรับการสนับสนุนด้านสุขภาพได้ ประเทศเหล่านี้มทักประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ความหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาและวัคซีน และมีอัตราโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อ่านบทความต้นฉบับที่: https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/donors-making-a-difference--toward-universal-health-coverage