ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.-กทม. ร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาด พร้อมบริหารจัดการสถานการณ์ ด้านมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข มาตรการทางสังคม ยา และวัคซีน รวมถึงความร่วมมือ เพื่อประโยชน์ของประชาชน 


นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) UHOSNET และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปค.สธ.) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 โดยมี ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เข้าร่วมประชุมในระบบออนไลน์

2

นพ.เกียรติภูมิ เปิดเผยว่า เนื่องจากพบแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์ BA.4 , BA.5 สธ. ในฐานะ ศปค.สธ. ดูแลระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ จึงได้เชิญ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวางแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ ทั้งมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ เตียง การเข้าถึงยา การรักษา มาตรการทางสังคมและวัคซีน รวมถึงการร่วมมือสนับสนุน บริหารจัดการสถานการณ์เพื่อประโยชน์ของประชาชน  

อย่างไรก็ดี ขณะนี้การติดเชื้อกว่าครึ่งเกิดในพื้นที่ กทม. มีสถานพยาบาลที่เป็นกำลังหลักคือ สังกัด กทม. โรงเรียนแพทย์ ทำงานร่วมกับเอกชน ซึ่งพบว่าขณะนี้สถานการณ์เตียงของ กทม. ยังสามารถบริหารจัดการและขยายเพิ่มได้ ทั้งนี้ สธ. พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งการทำแผนบริหารจัดการ บูรณาการการดูแลโดยใช้คณะกรรมการ กทม. ที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน และสนับสนุนการสำรองยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกโรงพยาบาลมียาใช้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ 

1

ด้าน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. กล่าวว่า สธ. ได้สนับสนุนยาให้กับ กทม. เพื่อแจกจ่ายไปยังผู้ติดเชื้อและอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับยาตามแนวทางของกรมการแพทย์ สำหรับเตียงของ กทม. แม้ขณะนี้จะยังเพียงพอ แต่ต้องมีการบริการจัดการและร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ระบบส่งต่อไร้รอยต่อ โดยขณะนี้ กทม.มีศูนย์เอราวัณ เป็นผู้ประสานส่งต่อผู้ป่วยใน 6 โซนหลัก ส่วนความครอบคลุมการได้รับวัคซีนของพื้นที่ กทม. จากการสนับสนุนวัคซีนของ สธ. ทำให้ทุกจุดบริการพร้อมให้บริการ โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 100% และวัคซีนเข็มกระตุ้นเกินกว่า 80% และจะขยายวันจัดบริการในวันเสาร์ และจัดบริการเชิงรุกถึงบ้านผู้ป่วยติดเตียง และผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมให้มากขึ้น