กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยแพร่แนวทางการจัดตั้ง “คลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID” เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 โดยแบ่งแนวทางการจัดการออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการให้บริการ 2. ด้านบุคลากรที่ให้บริการ 3. ระบบสารสนเทศในการดำเนินการ 4. การเข้าถึงระบบ ผลิตภัณฑ์ และบริการ 5.ระบบการเงินการคลัง 6. ภาวะผู้นำการอภิบาล
สำหรับแนวทางการจัดตั้ง “คลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID” คือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งคลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID ขึ้นในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยให้บริการแบบผู้ป่วยนอก ผ่านการนัดหมายการรับบริการหรือให้บริการผ่านระบบพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ทั้งคลินิก Long COVID และคลินิกเสมือนจริง (Virtual clinic)
ทั้งนี้ สาระสำคัญของแนวทางการจัดตั้ง “คลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID” แบ่งออกเป็น 1. ด้านการให้บริการ จะเป็นการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่พ้นระยะวิกฤตเฉียบพลัน แต่ยังคงมีอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยบริการดังกล่าวครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจสู่ห้องปฏิบัติการพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษาและติดตามอาการ รวมถึงการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (ในกรณีที่มีความจำเป็น)
ในส่วนของรูปแบบ คลินิกจะให้บริการแบบผู้ป่วยนอก ผ่านการนัดหมายการรับบริการหรือให้บริการผ่านระบบพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ทั้งคลินิก Long COVID และคลินิกเสมือนจริง (Virtual clinic) โดยสถานที่และวันเวลานั้น ใช้การจัดตั้งในสถานพยาบาลทุกระดับ โดยเฉพาะหน่วยบริการระดับปฐมภูมิเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะเปิด-ปิด ตามเวลาราชการ หรืออาจดำเนินการเฉพาะวันโดยเน้นระบบการนัดหมายล่วงหน้า
2. ด้านบุคลากรที่ให้บริการ กรมการแพทย์ได้เสนอแนวทางในการจัดสรรบุคลากรที่ปฏิบัติงานสำหรับคลินิก Long COVID โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
ทั้งนี้ได้แก่ คลินิกระดับปฐมภูมิ ได้แก่ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการด้านสาธารณสุข และนักวิชาชีพอื่นๆ อาทิ นักกายภาพบำบัด ฯลฯ คลินิกระดับทุติยภูมิ ได้แก่ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว อายุรแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการด้านสาธารณสุข และนักวิชาชีพอื่นๆ อาทิ นักโภชนาการบำบัด ฯลฯ คลินิกระดับตติยภูมิ ได้แก่ อายุรแพทย์ระบบประสาท ฯลฯ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข นักวิชาชีพอื่นๆ เช่น นักกิจกรรมบำบัด ฯลฯ
นอกจากนี้ ควรมีระบบการสื่อสารและการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของผู้ป่วย
3. ระบบสารสนเทศในการดำเนินการ ระบบต้องสามารถเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลผู้ป่วยของสถานพยาบาลหลัก และฐานข้อมูลตามสิทธิการรักษาพยาบาล ฐานข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นและส่งต่อข้อมูลได้กรณีต้องส่งตัวเพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม หรือส่งประมวลผลข้อมูลการวินิจฉัย การดูแลรักษาไปยังฐานข้อมูลกลางของกระทรวง สธ. รวมถึงดำเนินการให้บริการผ่านระบบ Telemedicine มีช่องทางสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรประจำคลินิก Long COVID รวมถึงมีระบบการป้องกันความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน
4. การเข้าถึงระบบ ผลิตภัณฑ์ และบริการ มีการจัดระบบให้คำแนะนำผู้ป่วยโควิด ให้สามารถเข้าถึงช่องทางการให้ความรู้เรื่อง Long COVID ก่อนให้การบริการในทุกรูปแบบ รวมถึงระบบการนัดหมายผู้ป่วยโควิด เพื่อติดตามอาการ
5. ระบบการเงินการคลัง การให้บริการจะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย รวมถึงงบการดำเนินการคลินิก Long COVID ทั้งรูปแบบคลินิกผู้ป่วยปกติ และคลินิกเสมือนจริง (Virtual clinic) 6.ภาวะผู้นำการอภิบาล มีการมอบนโยบายการปฏิบัติ ระบบการสนับสนุน กำกับ ติดตามและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ
- 237 views