ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข สั่งการโรงพยาบาล 14 จังหวัดรอบ กทม. เพิ่มกำลังบริการคลินิกโรคทางเดินหายใจ ช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิดใน กทม.ที่ยังรอเข้าระบบ สามารถรับบริการแบบผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ" ได้ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมนี้ รองรับได้รวมวันละ 18,650 ราย คาด 1-2 สัปดาห์ช่วยลดปัญหารอสาย ไม่ได้รับการติดต่อกว่า 3 หมื่นสายได้


นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผ่านการแถลงข่าวการขยายบริการ "เจอ แจก จบ" รับผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น วันที่ 3 มี.ค. 2565 ว่า จากข้อมูลสายด่วน 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 มีการโทรเข้าถึง 70,300 สาย ติดต่อเจ้าหน้าที่ 59,614 สาย เจ้าหน้าที่รับสายได้  29,688 สาย ที่เหลืออีกประมาณ 30,000 สาย ต้องรอสายนานหรือไม่ได้รับการติดต่อกลับ

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ติดเชื้อโควิด 19 พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ยังติดต่อ 1330 ไม่ได้หรือรอคอยนาน สธ. จึงสั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด 14 จังหวัดรอบ กทม. ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, นครนายก, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นครปฐม, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตและสังกัดกรมควบคุมโรค เพิ่มศักยภาพให้การดูแล แบบผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ" ให้เพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค 2565 เป็นต้นไป รองรับบริการได้ประมาณ 18,650 รายต่อวัน

"วันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ 14 จังหวัดรอบ กทม. และสั่งการให้เตรียมพร้อมจัดบริการเจอแจกจบแล้ว โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการข้ามเขต เพราะได้หารือกับระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ แล้วว่าสามารถมาดูแลรักษาในระบบผู้ป่วยนอกได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งคาดว่าหากดำเนินการไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะช่วยลดปัญหาการรอสาย ไม่ได้รับการติดต่อกลับลงได้ ทั้งนี้ การดูแลแบบผู้ป่วยนอกและกลับไปแยกกักตัวที่บ้าน สามารถทำได้ปลอดภัย เนื่องจากผู้ติดเชื้อขณะนี้เป็นสายพันธุ์โอมิครอน อาการไม่รุนแรง และการดูแลที่บ้านโอกาสที่อาการจะรุนแรงขึ้นมีน้อยมากประมาณ 0.5% เท่านั้น" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. กล่าวว่า ผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ที่จะไปรับบริการ เจอ แจก จบที่โรงพยาบาล ขอให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น และปฏิบัติตนตามมาตราการป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะดีที่สุด เมื่อไปถึงคลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของโรงพยาบาล จะได้พบแพทย์เพื่อประเมินอาการและความเสี่ยง

"ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักเป็นกลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก แพทย์จะพิจารณาจ่ายยา ซึ่งอาจเป็นฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยารักษาตามอาการ พร้อมทั้งให้ความรู้ในการดูแลแยกกักตัวเอง และแจกเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อกลับกรณีมีอาการมากขึ้นหรือมีข้อสงสัย ถือว่าได้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ เรียบร้อย โดยจะได้รับการดูแลติดตามประเมินอาการภายใน 48 ชั่วโมง" นพ.ธงชัย กล่าว