ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

22,311 คน คือจำนวน “ผู้ติดเชื้อโควิด 19” รายใหม่ในวันที่ 1 มี.ค. 2565 หากนับรวมผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่คัดกรองผ่าน Antigen Test Kit (ATK) อีกจำนวน 21,497 คน จะพบว่า เพียงวันเดียวประเทศไทยอาจจะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 4.3 หมื่นราย

อย่างไรก็ดี เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อ (ยืนยัน) ยังอยู่ในระดับ 2 หมื่นรายต่อวัน และส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ที่ผู้ป่วยมักจะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงปรับกลยุทธ์ด้วยการมุ่งเน้นไปที่การรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) และการรักษาตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) เพื่อสำรองเตียงในโรงพยาบาลไว้รองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

และตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป สธ.ได้เพิ่มการบริการรูปแบบใหม่ขึ้นอีก 1 แบบ นั่นคือการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบ “ผู้ป่วยนอก” หรือ OPD คือ พบเชื้อ-รับยา-ดูแลตัวเองที่บ้าน ซึ่งสอดคล้องกับการปรับให้โควิด 19 กลายเป็น “โรคประจำถิ่น”

ขีดเส้น 4 เดือน ผลัดใบ โรคระบาดสู่ โรคประจำถิ่น

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เปิดเผยว่า สธ. ได้เตรียมแผนการบริหารจัดการให้โรคโควิด 19 ออกจากการเป็นโรคระบาด ไปสู่การเป็น “โรคติดต่อทั่วไป” หรือ “โรคประจำถิ่น” เนื่องจากหากเทียบกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในรอบที่ผ่านมา ขณะนี้โรคลดความรุนแรงลง ไม่มีภาวะอันตรายมาก รวมไปถึงมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันประชาชนเองก็มีภูมิต้านทานมากเพียงพอ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน นับจากนี้

อย่างไรก็ดี สธ. ได้จัดระบบบริการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพิ่มการดูแลในระบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือ “เจอ แจก จบ” โดยทำการตรวจผู้ที่สงสัยป่วยโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากพบผลเป็นบวก แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาตามอาการ 3 สูตร ได้แก่ 1.ยาฟาวิพิราเวียร์ 2.ยาฟ้าทะลายโจร 3.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก

คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 มี.ค. 2565 นี้

ถัดจากนั้น “นพ.เกียรติภูมิ” ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 ได้ทำหนังสือ “ด่วนที่สุด” ที่ สธ. (สบค.) 0248/53 ลงวันที่ 25 ก.พ. 2565 ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด-ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์-โรงพยาบาลทั่วไป เรื่อง การเตรียมการสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) กรณี “ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการป่วยหรืออาการป่วยน้อย”

เนื้อความในหนังดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลกที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว สำหรับในประเทศไทย พบว่าขณะนี้ตรวจพบการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย “แบบโรคประจำถิ่น (Endemic)” ตั้งแต่ “วันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป ขอให้ “เพิ่ม” การจัดบริการรักษาผู้ป่วยแบบผู้ป่วยนอก (OPD) สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการป่วยหรืออาการป่วยไม่มาก ให้สังเกตตัวเองที่บ้าน (Self Observation) ตามความสมัครใจ รายละเอียดตามแนวทางของกรมการแพทย์

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 นพ.เกียรติภูมิ ระบุตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ทำผู้ป่วยปอดอักเสบ-ใส่ท่อช่วยหายใจ-และเสียชีวิต มีแนวโน้มมากขึ้น แต่ยังเป็นสัดส่วนที่ลดลง ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และยังไม่ได้รับวัคซีน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้เตียงทั่วประเทศใช้ไปประมาณ 59% ส่วนใหญ่เป็นเตียงระดับ 1 สำหรับผู้มีอาการน้อย ส่วนเตียงระดับ 2 และ 3 ใช้ประมาณ 20% เท่านั้น

 ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ สำรองไว้ทั่วประเทศ 16.9 ล้านเม็ด ช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้อีก 63.8 ล้านเม็ด รวมถึงสั่งซื้อเพิ่มเติมด้วย รวมทั้งสิ้น 87.6 ล้านเม็ด ซึ่งวันที่ 1 มีนาคม จะส่งเพิ่มอีก 15 ล้านเม็ด

แค่เพิ่มบริการ OPD - ไม่ยกเลิก HI-CI

ขณะเดียวกัน แม้ว่าจะมีการเพิ่มบริการดูแลแบบผู้ป่วยนอก แต่การดูแลผู้ป่วย HI-CI ไม่ได้ยกเลิกแต่อย่างใด

นพ.เกียรติภูมิ ระบุเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2565 ว่า หากผลตรวจเชื้อเป็นบวกยังสามารถเข้าระบบ HI-CI ได้ตามปกติ เพียงแต่เพิ่มระบบการดูแลแบบผู้ป่วยนอกเข้ามา เพื่อเป็นการรองรับกรณีที่ยังไม่สามารถเข้าระบบ HI-CI หรือยังไม่ได้รับการติดต่อ เข้าระบบ

สำหรับการเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกนั้น สามารถรับบริการได้ที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) โดยจะได้รับการตรวจวินิจฉัย-จ่ายยารักษาตามระดับอาการที่เหมาะสม ซึ่งสำหรับรายละเอียด-ขั้นตอน-หลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ 3 แห่ง ได้แก่ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

การไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกโควิดวันที่ 1 มีนาคมนี้ เบื้องต้นสามารถไปรับบริการได้ทุกที่ เนื่องจากยังคงประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคฉุกเฉินภายใต้สิทธิ UCEP COVID อย่างไรก็ตาม จะมีการหารือกับกองทุนสุขภาพแต่ละกองทุนถึงแนวทางการเบิกจ่ายค่าบริการโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอกให้เหมาะสมต่อไป นพ.เกียรติภูมิกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุตอนหนึ่งว่า เมื่อตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก กลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยงสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้าน ซึ่งคล้ายกับการรักษาระบบ HI คือ มีการแยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ โทรติดตามอาการ โดย HI จะโทรติดตามทุกวัน และมีอุปกรณ์ตรวจประเมินให้ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด รวมถึงอาหาร

ขณะที่กรณีผู้ป่วยนอกเนื่องจากไม่มีความเสี่ยง จึงไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมินและอาหารให้ และจะโทรติดตามอาการครั้งเดียวเมื่อครบ 48 ชั่วโมง แต่ทุกรูปแบบจะมีช่องทางให้ประชาชนสามารถติดต่อกลับได้ และมีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง

HI คือ ผู้ป่วยใน

โรคโควิด-19 ถือเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งผู้ป่วยยืนยันจำเป็นต้องต้องแยกกักตัว ซึ่ง HI ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางหลักในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อได้ และมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่น รวมไปถึงการที่แพทย์เล็งเห็นแล้วว่าผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองที่บ้านได้

อย่างไรก็ดี “สมาคมประกันชีวิตไทย” แจ้งแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันที่ป่วยโควิด 19 ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็น “ผู้ป่วยใน” ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยให้กักตัวที่บ้าน

ข้อความดังกล่าวส่งผลกระทบให้สถานพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรับผู้ป่วย และส่งต่อให้โรงพยาบาลของรัฐทำการรักษา และนั่นอาจส่งผลให้บริษัทประกันฯ หลายแห่งไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือชดใช้รายได้ตามกรมธรรม์

ด้วยเหตุนี้เอง นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการสาธารณสุข ได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการปกครองธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ลงวันที่ 24 ก.พ. 2565 โดยระบุความเห็นว่า ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation : HI) ให้ถือเป็น “ผู้ป่วยใน” ฉะนั้นผู้ป่วยที่ทำประกันเอาไว้ว่าจะได้รับค่าบริการเมื่อเป็นผู้ป่วยในก็ควรจะได้รับ เพราะการรักษาใน HI ถือว่าเป็นผู้ป่วยในตามคำนิยามเช่นกัน

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น เป็นไปตามประกาศของ สธ. ที่กำหนดว่า ผู้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจะมีการดูแลเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งในประกาศฉบับดังกล่าวระบุอีกว่า “สามารถกำหนดให้บ้านเป็นหน่วยบริการได้” และใน  พ.ร.บ.สถานพยาบาล ได้นิยามคำว่าผู้ป่วยในไว้ว่า “เป็นผู้ป่วยที่แพทย์สั่งให้ดูแลรักษา” ฉะนั้นกลุ่มกฎหมายได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ป่วยเข้าระบบ HI และแพทย์สั่งให้ดูแลรักษาก็ย่อมต้องถือเป็นผู้ป่วยใน แต่ที่ผ่านมาเกิดการตีความกันไปว่าผู้ป่วยในคือผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลเท่านั้น

(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thecoverage.info/news/content/3186)

2 ข้อสรุป เกณฑ์ผู้ป่วยเคลมประกันโควิด

ขณะเดียวกัน ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้ออกหนังสือแจ้งเวียนบริษัทสมาชิกเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยอ้างอิงจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation โดยให้สมาชิกฯ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

ภายหลังจากที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้มีการสื่อสารแนวปฏิบัติดังกล่าวออกไปนั้น ปรากฏว่า ได้มีการตีความและมีข้อถกเถียงกันเป็นวงกว้าง ตลอดจนโรงพยาบาลเอกชนได้มีการปฏิเสธรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด หากไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าบริษัทประกันภัยจะปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทน ส่งผลทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ทำประกันภัยได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการคลี่คลายสถานการณ์และหาทางออกร่วมกัน เลขาธิการ คปภ. จึงได้จัดประชุมคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. อยู่หลายครั้ง ตลอดจนประชุมร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย จนได้รับทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ดร. สุทธิพล ในฐานะนายทะเบียน จึงได้มอบหมายให้ นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ ด้านกำกับ และ นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ จัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2565 ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมการแพทย์ (สบส.) กรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองกฎหมายกระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อให้ได้ข้อยุติในประเด็นปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี จากการประชุมเบื้องต้น ได้ข้อสรุปร่วมกัน 2 ประเด็น ได้แก่ 1. กรณีที่แนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยสุขภาพ ของสมาคมประกันชีวิตไทย ที่มีข้อความที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า หากมีการ admit เป็นผู้ป่วยใน ในสถานพยาบาล หรือ Hospitel แล้ว บริษัทประกันภัยจะต้องให้ความคุ้มครอง เพราะถือว่า เป็นกรณีที่มีความจำเป็นทางการแพทย์และเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ และเป็นกรณีที่สอดคล้องกับเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะได้เร่งออกแนวปฏิบัติให้บริษัทประกันภัยถือปฏิบัติต่อไป

2. กรณีที่แนวทางปฏิบัติใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้การดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาแพร่เชื้อมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่น “ในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย” (HI) โดยถือว่าเป็นผู้ป่วยของสถานพยาบาล

ที่ประชุมเห็นว่า ความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้การรักษาแบบ HI , CI และ Hotel Isolation เป็นสถานพยาบาลอื่นที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ส่วนนี้ภาคธุรกิจประกันภัยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่เนื่องจากความเห็นดังกล่าวเพิ่งจะมีขึ้นหลังจากที่มีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพและประกันภัยโควิดแล้ว ซึ่ง ณ ขณะที่มีการกำหนดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวยังไม่มีกรณีของ HI-CI-Hotel Isolation

สำหรับการพิจารณาว่าผู้ป่วยดังกล่าวเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยใน ในสถานพยาบาลหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณา “ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์เป็นหลัก” โดยเป็นเรื่องที่คู่สัญญาตกลงกันในขณะทำสัญญาประกันภัย รวมทั้งต้องพิจารณาความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรการทางการแพทย์ประกอบด้วย

มากไปกว่านั้น ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีการกำหนดเงื่อนไขความคุ้มครอง ข้อยกเว้นต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นการพิจารณาให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบรูปแบบการรักษาว่าเป็นผู้ป่วยใน-นอก รวมไปถึงพิจารณาคำนิยามสถานพยาบาลร่วมด้วย

ขณะเดียวกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย จึงเห็นว่า ควรมีการพิจารณาอนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่รักษาตัวแบบ HI หรือ CI ในกรณีที่จำเป็น ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะร่วมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป