ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ออกประกาศแนะนำการดูแลรักษาโควิด ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 15 ปี


เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือให้คำแนะนำฉบับเบื้องต้นการดูแลรักษา COVID-19 ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี (COVID-19 Interim Guidance: Management of Children with COVID-19) ฉบับที่ 1/2565 หลังพบผู้ติดเชื้อสะสมในอายุต่ำกว่า 18 ปี ตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2564 - 16 ก.พ. 2565 มีจำนวนถึง 77,635 คน
 
หนังสือคำแนะนำ ระบุว่า สำหรับผู้ติดเชื้อที่เข้าข่าย โดยใช้ชุดตรวจ Antigen-Test Kit (ATK) ทั้งแสดงอาการ และไม่แสดงอาการ ให้ใช้ยาในการรักษาจำเพาะดังนี้

1. ผู้ติดเชื้อโควิดแต่ไม่แสดงอาการ (Asymptomatic COVID-19) ไม่แนะนำให้ทานยาต้านไวรัส รวมถึงสามารถแยกกักตัวที่บ้านได้โดยไม่ต้องเข้าระบบ Home Isolation (HI) หรือที่โรงพยาบาล

2. ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง (Symptomatic COVID-19 without pneumonia and no risk factors) แนะนำให้ดูแลรักษาตามอาการ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าระบบ HI หรือรับการรักษาที่โรงพยาบาล อาจพิจารณาให้ทานยาฟาวิพิราเวียร์ได้เป็นเวลา 5 วัน เช่น กรณีที่ไข้สูง 39 องศามากกว่า 1 วัน อ่อน เพลีย ซึม อาเจียน ฯลฯ

3. ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการปอดอักเสบ (pneumonia) เล็กน้อยกรณีไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 4 แนะนำให้ทานยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5 วัน จนกว่าอาการจะดีขึ้น รวมถึงสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ตามดุลพินิจของแพทย์ โดยต้องจัดช่องทางให้ผู้ป่วยได้ประเมินอาการ หรือรับการรักษาในโรงพยาบาลหากอาการทรุดลง

4. ผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันว่ามีอาการปอดอักเสบปานกลาง หรือ รุนแรง ได้แก่ หายใจเร็วกว่าอัตราหายใจตามกำหนดอายุ โดยแนะนำให้รับการารักษาที่โรงพยาบาล และทานยาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน รวมถึงพิจารณาให้ยาเรมเดซีเวียร์ กรณีติดเชื้อไม่เกิน 10 วัน และมีอาการปอดอักเสบที่ต้องรักษาด้วยออกซิเจน หรือมีอาการรุนแรง และแนะนำให้ใช้ยาแก้อักเสบ (Corticosteroid)

5. ผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันที่มีข้อบ่งชี้ในกรนอนโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน ทานอาหารไม่ได้ โดยแนะนำให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และทานยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน จากนั้นเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น หรือไม่มีข้อบ่งชี้ในการนอนโรงพยาบาล สามารถเปลี่ยนมารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ โดยการกักตัวที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์
 
อนึ่ง อ่านหนังสือคำแนะนำฉบับเต็มทาง ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย