ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์สถาบันเด็กฯ เผย เรียนออนไลน์ต้นตอทำให้เด็กปวดกล้ามเนื้อ นำไปสู่ภาวะออฟฟิศซินโดรม กระทบต่อการเจริญเติบโต-สภาพจิตใจ


พญ.อุบลวรรณ วัฒนาดิลกกุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ตลอด 2 ปีที่เด็กต้องเรียนออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 พบว่าเด็กมีปัญหาทางสภาพจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากต้องอยู่กับที่มากขึ้น ขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน นอกจากนี้ เด็กที่เรียนออนไลน์เป็นเวลานานยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อที่อาจจะเรื้อรัง และนำไปสู่อาการออฟฟิศซินโดรมรวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้

“ใน 1 วัน เด็กต้องเรียนออนไลน์ 5-6 ชั่วโมง นั่นหมายถึงสัปดาห์ละ 25-30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 100-120 ชั่วโมงต่อเดือน เด็กต้องอยู่ในอิริยาบทเดิมเป็นเวลานาน และไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน” พญ.อุบลวรรณ กล่าว

พญ.อุบลวรรณ กล่าวว่า ได้มีโอกาสให้คำปรึกษาแก่เด็กที่มีอาการคล้ายกับออฟฟิศซินโดรม อายุ 10 ขวบ และ 14 ขวบ โดยพบว่าเด็กมีอาการปวดกล้ามเนื้อ บางกรณีพบเด็กที่เกิดอาการปวดคอจนแหงนคอลำบาก มากไปกว่านั้นคือผลกระทบทางจิตใจ คือมีอาการเซื่องซึมและหงอยเหงา

ทั้งนี้ เมื่ออาการหรือภาวะดังกล่าวเข้ามาควบคุมพฤติกรรม จะทำให้เด็กไม่อยากประกอบกิจกรรมที่ต้องขยับร่างกายมาก ที่สุดแล้วก็จะเลือกทำกิจกรรมที่อยู่ในท่าเฉพาะนานขึ้น เช่น การดูโทรทัศน์ การเล่นเกม ซึ่งส่งผลกลับไปยังโครงสร้างร่างกาย กล้ามเนื้อก็จะมีประสิทธิภาพลดลง สำหรับการป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรมในเด็ก ต้องเน้นไปที่สภาพจิตใจมากกว่ากายภาพ

“ต้องเข้าใจว่าโครงสร้างทางร่างกายของเด็ก เช่น กระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ มีความหยืดหยุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ และกิจกรรมที่เด็กทำก็จะเป็นการขยับร่างกายสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อได้ใช้งาน ฉะนั้นในช่วงก่อนโควิด 19 ที่ยังไม่มีการเรียนออนไลน์ จะไม่พบเด็กที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อจนเข้าข่ายออฟฟิศซินโดรมเลย” พญ.อุบลวรรณ กล่าว

พญ.อุบลวรรณ กล่าวอีกว่า มีงานวิจัยของต่างประเทศเกี่ยวกับการปวดกล้ามเนื้อในเด็กอายุ 6-18 ปี โดยผลการศึกษาพบว่า การปวดกล้ามเนื้อไม่ได้มีสาเหตุมาจากภาวะน้ำหนักเกิน แต่มีแนวโน้มจากการดูโทรทัศน์ 2 ชั่วโมงต่อวัน

พญ.อุบลวรรณ กล่าวต่อไปว่า หากเด็กปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลต่อภาวะการเจริญเติบโตทั้งด้านของโครงสร้างทางร่างกายและสภาพจิตใจ รวมถึงทำให้เสี่ยงที่จะเป็นออฟฟิศซินโดรม และโรคแทรกซ้อน เช่น โรคอ้วน  โรคซึมเศร้า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ฯลฯ หรือภาวะของสรีระตั้งแต่ช่วงหน้าอกขึ้นไปถึงลำคอเกิดการเคลื่อนตัวงุ้มลง หรือห่อไปด้านหน้า

ทั้งนี้การป้องกันจึงสำคัญมาก ผู้ปกครองควรสร้างสภาพแวดล้อมให้เขาได้ทำกิจกรรมกับเพื่อน รวมถึงสถานที่ที่เหมาะกับการออกกำลังกาย เช่น การวิ่งเล่น ปั่นจักรยาน หรือหากยังต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยังจำกัดการพบปะ ควรให้เด็กได้ทำงานบ้าน และหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันในครอบครัวได้ กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้เด็กมีสภาพจิตใจที่สดชื่นเหมาะกับช่วงวัย ยังได้รับวิตามินจากแสงแดดภายนอก ซึ่งมีส่วนช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น