ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลวิจัย “บูสเตอร์โดสหลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม พบฉีดเข็ม 3 ด้วย แอสตร้า หรือ ไฟเซอร์ ขนาดครึ่งโดส ได้ภูมิไม่ด้อยกว่าเต็มโดส


ศ.พญ.พรรณี ปติสุทธิธรรม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “ประเมินความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า และไฟเซอร์ ในผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 โดส” เปิดเผยว่า การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาการให้วัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าและวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,230 คน ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 เข็ม

สำหรับการศึกษานี้ ได้ศึกษาว่าการให้วัคซีนเข็ม 3 ขนาด “ครึ่งโดส” สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันไม่ด้อยกว่าให้ “เต็มโดส” หรือไม่ และศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้วัคซีนเข็มที่ 3 หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 เข็ม รวมถึงการประเมินความปลอดภัยของการรับวัคซีนเข็มที่ 3 แบบเต็มโดสและครึ่งโดส

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า การให้วัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าหรือวัคซีนไฟเซอร์ขนาด “เต็มโดส” สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานได้สูงถึงประมาณ 170-300 เท่า ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน ขณะที่การให้วัคซีนขนาด “ครึ่งโดส” ก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันไม่ด้อยไปกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเต็มโดส

นอกจากนี้ ยังพบว่ายิ่งให้วัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ห่างจากเข็ม 2 (ซิโนแวค) มากเท่าใด ก็ได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น โดยกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ประมาณ 4 -6 เดือน สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับการให้เข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ประมาณ 2-3 เดือน หรือ 3-4 เดือน อย่างมีนัยสำคัญ โดยวัคซีนทั้ง 2 ตัวมีความปลอดภัยสูง

อนึ่ง งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 บพข.ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยสำคัญอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงได้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างแพทย์และนักวิจัยที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยและจากหลายสถาบันในหลายประเทศ อาทิ ประเทศบราซิล ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเนเธอแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ เกิดเป็นการศึกษาวิจัยในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการศึกษาวิจัยในเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด 19 หรือ โครงการพัฒนาชุดตรวจโควิด 19 ในหลายโครงการ อาทิ โครงการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ด้วยวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และบริษัทไฟเซอร์ ในผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิดเชื้อตายของบริษัทซิโนแวคมาแล้วจำนวน 2 โดส

สำหรับโครงการนี้ บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนและร่วมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และ 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ บริษัท คลินิเซอร์ จำกัด คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์