ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปสช. ชี้ วิกฤติโควิด-19 ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาตัวเอง เล็งนำระบบการรักษาตัวที่บ้านขยายไปสู่การดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 ทำให้ได้เรียนรู้ใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1.โ ควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มีใครแนะนำได้ว่าต้องทำอย่างไร แต่โชคดีที่การระบาดในไทยมักเกิดตามหลังต่างประเทศ เมื่อศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศจึงคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในไทย

2. ในบทบาทของหน่วยงานในการใช้กลไกที่มีเข้าไปสนับสนุนการทำงานเพื่อรับมือสถานการณ์การระบาด แต่ละองค์กรสามารถวิเคราะห์ได้ว่าในองค์กรของตัวเองมีกลไกอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์กับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในส่วนของ สปสช. ได้เรียนรู้ว่าต้องจ่ายเงินให้เร็ว โรงพยาบาลถึงจะไม่เก็บเงินจากผู้ป่วย แต่การจะจ่ายเงินเร็วต้องตรวจสอบความถูกต้องให้ได้ 100% ก่อนจ่าย ซึ่ง สปสช.ไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน แต่ในภาวะแบบนี้ก็สามารถปรับระบบให้เอื้อกับการทำงานของโรงพยาบาลได้

3.ความรวดเร็ว เนื่องจากโรคอุบัติใหม่ แม้ว่าจะคิดว่าทำงานเร็วแล้วแต่ก็ยังช้ากว่าโรคที่กำลังระบาด ดังนั้นจึงต้องปรับระบบการทำงานให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ทั้ง 3 เรื่องคือปัจจัยสำคัญ อย่างไรก็ดี สปสช.ไม่ใช่หน่วยงานที่เป็นกลไกในการนำ แต่เป็นฝ่ายสนับสนุน จึงใช้กลไกที่มีอยู่คือกลไกทางการเงินการคลังมาสนับสนุนให้เกิดการให้บริการในหลายๆด้าน เช่น ในด้านระบบบริหารจัดการ มีการปรับปรุงระบบ call center เชิงรุกเพื่อประสานหาเตียงและติดตามอาการของผู้ติดเชื้อ มีระบบจับคู่คนไข้กับหน่วยบริการเพื่อดูแลที่บ้าน ระบบการจัดส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนา การจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปให้คนไข้ที่บ้าน

ในด้านระบบบริการ สปสช.สร้างกลไกการเงินการคลังเพื่อเอื้อให้เกิดบริการ โดยมองทิศทางนโยบายของรัฐและกระทรวงสาธารณสุขว่าจะดำเนินการอย่างไร แล้วดูว่ากลไกของ สปสช. สนับสนุนอย่างไรได้บ้าง เช่น การพัฒนาระบบการจ่ายเงินสำหรับ Home Isolation, Community Isolation รวมทั้งในการพัฒนาสิทธิประโยชน์จะใช้ Green Channel หรือช่องทางด่วนลดขั้นตอนการศึกษาประเมินต่างๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการมีส่วนร่วม สปสช.ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วย และยังใช้โอกาสนี้สร้างความเข้มแข็งในการทำงานระหว่างร่วมกันในอนาคตอีกด้วย

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า จากบทเรียนและการดำเนินการที่ผ่านมา คิดว่าวิกฤติครั้งนี้ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่เฉพาะแค่การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคแต่รวมถึงการรักษาด้วย ดังนั้นต้องรักษาโมเมนตั้มนี้ไว้

"มีหลายโรคที่ สปสช. คิดว่าสามารถรักษาที่บ้านได้ ใช้ระบบ Video call และจัดส่งอุปกรณ์ให้ได้ เช่น ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เราสามารถใช้บทเรียนจากโควิด ทำการรักษาโมเมนตั้ม และทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ เช่นกัน" นพ.จเด็จ กล่าว

นอกจากนี้แล้ว นพ.จเด็จ ยังให้ความเห็นว่าบทเรียนจากโควิด-19 สะท้อนว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เชิงรุกเพื่อเข้าหาประชาชน ล่าสุด สปสช.ร่วมมือกับ สสส. นำองค์ความรู้ 20 ปีของ สสส. มาผนวกกับฐานข้อมูลที่ สปสช.มี เพื่อจัดการกระจายองค์ความรู้ด้านสุขภาพผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ให้กับประชาชน ในลักษณะเฉพาะตัวของใครของมันว่าแต่ละคนควรมีความรู้เรื่องอะไรบ้าง เป็นต้น และสุดท้ายคือวิกฤติโควิดน่าจะบรรเทาลงในระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรปล่อยให้กลไกการทำงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นหายไป ต้องหาโจทย์มาซ้อมมือบ่อยๆ เช่น เปลี่ยนเป็นคนไข้มะเร็งแล้วดูว่าจะดูแลอย่างไร เป็นต้น