ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รอง ผจว.ภูเก็ต เสนอตัวเป็นจังหวัดนำร่องในการประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น พร้อมขอลดเวลากักตัวผู้ติดเชื้อจาก 10 วัน เป็น 5 วัน


นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รอง ผวจ.ภูเก็ต เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2565 ตอนหนึ่งว่า จ.ภูเก็ต ยินดีและขอเสนอตัวเป็นจังหวัดนำร่องในการประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยจะมีเกณฑ์ชี้วัดคือต้องมีผู้ติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 1 และมีผู้เสียชีวิตไม่เกินร้อยละ 0.1 หรืออาจจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงกำหนด พร้อมกันนี้จะขอลดเวลากักตัวผู้ติดเชื้อจาก 10 วัน เป็น 5 วัน

สำหรับ 5 วันแรกจะกักตัวที่บ้าน หรือฮอสพิเทล หรือโรงพยาบาล เพื่อติดตามอาการและรักษาตัวตามอาการ ส่วนอีก 5 วันหลังสามารถกลับไปทำงานได้ภายใต้มาตรการป้องกันตัวเองอย่างเข้มข้น

นายพิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า จ.ภูเก็ต ต้องการเป็นจังหวัดนำร่องยกเลิกการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อประจำวัน แต่ยังคงรายงานการติดเชื้อกรณีผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง สีดำ เท่านั้น เพื่อลดความกังวลและพร้อมเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ

“ผมเชื่อว่าภูเก็ตมีความพร้อมเป็นจังหวัดนำร่อง” นายพิเชษฐ์ กล่าว

อนึ่ง สามารถจำแนกผู้ป่วยออกเป็น 4 ประเภท ตามระดับความรุนแรง ได้แก่ 1. ผู้ป่วยสีแดง วิกฤติ สัญญานชีพไม่คงที่ ต้องได้รับการตรวจรักษาทันที มิเช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้ 2. ผู้ป่วยสีเหลือง รุนแรงปานกลาง สัญญานชีพคงที่แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงแย่ลงได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับการตรวจรักษาโดยเร็ว (ภายใน 1 ชม.)

3. ผู้ป่วยสีเขียว บาดเจ็บเล็กน้อย ช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถรอรับการรักษาได้ (ภายใน 2-3 ชม.) 4. ผู้ป่วยสีดำ บาดเจ็บรุนแรงและมีโอกาสรอดน้อยมาก หรือเสียชีวิตแล้ว