ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) สามารถใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป หากเข้าถึง “ยาต้านไวรัส” และ “การรักษา” ได้อย่างรวดเร็ว

ทว่า ทุกวันนี้ การเข้าถึงการรักษา-ยาต้านไวรัส กลับยังมีอุปสรรค โดยเฉพาะระบบและทัศนคติของผู้ให้บริการ

แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ต่างครอบคลุมสิทธิประโยชน์เรื่องเชื้อเอชไอวี ทั้งการตรวจหาเชื้อ การรับยาและรักษาอาการ ไปจนถึงเรื่องการป้องกันต่างๆ เช่น การแจกถุงยางอนามัยหรือการจ่ายยา PREP  

หากแต่ก็ยังพบความจริงที่ว่า ในหลายโรงพยาบาลมีขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่งผลต่อระยะเวลาในการเข้าถึงการรักษาและการรับยาต้านไวรัสของผู้ติดเชื้อด้วย

ปัญหาที่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีคือการเข้าถึงการรักษาที่ล่าช้า โดยข้อมูลจาก ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค แพทย์นักสู้เพื่อผู้ป่วยเอดส์​ ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการ “แข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว” ระดับประเทศ ระบุกับ “The Coverage” ว่า ปัญหาใหญ่คือผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยกว่าครึ่ง ตรวจพบเชื้อและเริ่มรักษาเมื่อระดับภูมิคุ้มกัน (CD4) ได้ต่ำกว่า 200 ไปแล้ว ซึ่งถือว่าต่ำมาก

การพบภูมิคุ้มกันต่ำ มีความเสี่ยงที่การติดเชื้อที่จะนำไปสู่อาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูง รวมถึงเกิดการส่งต่อเชื้อให้ผู้อื่นอีกโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นแล้วสิ่งที่ควรจะเป็นคือ การตรวจหาเชื้อต้องกระทำให้เร็ว เพื่อที่จะได้ประเมินการรักษาและสุขภาพของผู้ติดเชื้อ และเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วก็ต้องรักษาให้เร็ว เพราะถ้าได้รับการรักษาที่เร็ว ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ เอดส์ก็จะกลายเป็นโรคไม่ติดต่อได้

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ บอกว่า สถานการณ์ในประเทศไทยกำลังค่อยๆ ดีขึ้น ปัญหาการให้ยาต้านไวรัสล่าช้าเริ่มคลี่คลายลง ในเวลานี้หลายฝ่ายได้เร่งรัดให้มีการจ่ายยาต้านเชื้อไวรัสให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างเร็วที่สุด โดยปกติอยู่ที่ 2 – 4 สัปดาห์หลังจากตรวจพบเชื้อ แต่ในความเป็นจริงแล้วหลักโดยทั่วไปของนโยบายด้านเอชไอวีไทย คือการจ่ายยาต้านให้กับผู้ติดเชื้อทุกระดับ CD4

นั่นหมายความว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถรับยาต้านได้ตั้งแต่ตรวจเจอเชื้อเป็นครั้งแรก โดยไม่ต้องรอผลภูมิคุ้มกัน

สำหรับความล่าช้าของกระบวนการจ่ายยา อาจมาจากการที่แพทย์ต้องการดูอาการของผู้ติดเชื้อก่อนที่จะจ่ายยาให้ เช่น มีเชื้อราในสมองหรือไม่ หรือมีตรวจวัณโรคก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่กว่า 90% ของผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการเหล่านี้ สามารถเริ่มยาได้ทันที

“แต่บางครั้งที่ตรวจเจอ เป็นการตรวจเจอในคลินิกเอชไอวีของโรงพยาบาล กว่าจะเริ่มทำการส่งต่อไปให้กับแพทย์เพื่อเริ่มยาต้านไวรัส อาจจะต้องเสียเวลารอวันที่หมอออกตรวจคนไข้ บางแห่งก็ให้ลองกินวิตามินไปพลางก่อนเพื่อทดสอบว่าคนไข้กินยาต่อเนื่องหรือไม่ และจะได้จ่ายยาต้านต่อไป

เราเริ่มพยายามเปลี่ยนความคิดแพทย์ในประเทศ ว่าเราสามารถเริ่มยาได้ในวันที่ตรวจเจอเลย เราหวังว่าการรักษาเร็วภายใน 7 วันที่ตรวจเจอ หรือภายในวันเดียวกันยิ่งดี ซึ่งจะทำให้คนไข้มีปริมาณเชื้อในตัวลดลง พอลดลงแล้ว ก็จะไม่แพร่หรือส่งต่อเชื้อให้ใครได้อีก” นพ.ประพันธ์ ระบุ

นพ.ประพันธ์ อธิบายต่อไปว่า การที่ผู้ติดเชื้อไม่แพร่เชื้อต่อ หรือที่เรียกกันว่า U=U เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการยุติการส่งต่อเชื้อและแพร่ระบาดของเอดส์ต่อไปของประเทศไทย

สอดคล้องกับ อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ที่เล่าให้ “The Coverage” ฟังว่า ทุกวันนี้มีหลายโรงพยาบาลที่สามารถจ่ายยาต้านไวรัสให้กับผู้ป่วยได้ในทันทีเมื่อมีการพบเชื้อ และหลายโรงพยาบาลก็สามารถจ่ายยาได้ภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นการปรับตัวของโรงพยาบาลให้เป็นไปตามกรอบที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดเอาไว้ โดยทิศทางเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี การจ่ายยาไวเพียงอยางเดียวอาจช่วยผู้ติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่อยากให้เพิ่มเติมคือการนำยาต้านไวรัสที่เป็น TLE หรือ DTG อันเป็นสูตร “น้อยเม็ด น้อยมื้อ ดื้อยาก ผลข้างเคียงต่ำ” ออกมาจ่ายให้กับผู้ติดเชื้อด้วย ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อดีขึ้น โดยพบว่ามีโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งเริ่มจ่ายยาสูตรนี้แล้ว แต่ในหลายโรงพยาบาลก็ยังไม่จ่าย

อภิวัฒน์ บอกว่า ในหลายๆ โรงพยาบาล เมื่อตรวจพบเชื้อแล้ว มักจะให้ผู้ที่ติดเชื้อกลับบ้านไปก่อนแล้วค่อยนัดมาใหม่ จึงทำให้ผู้ที่ติดเชื้อขาดตอนหรือหายไปจากระบบ บ้างก็ให้ผู้ติดเชื้อซ้อมกินวิตามินไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการซ้อมระหว่างรอผลจากห้องทดลอง ซึ่งไม่มีประโยชน์ อีกเหตุผลคือไม่ไว้ใจว่าผู้ติดเชื้อจะกินยาต้านไวรัสเองได้ตรงเวลาและต่อเนื่องหรือไม่ เลยให้ซ้อมกินไปก่อน นี่เป็นความไม่เชื่อใจกันที่เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อ

“นี่เป็นอุปสรรค บุคลากรในระบบสาธารณสุขบางส่วนอาจจะยังไม่เข้าใจนโยบาย มาตรฐาน และข้อมูลปัจจุบันของแนวทางการจัดการเรื่องเอชไอวี เป็นเรื่องที่จะต้องมีกระบวนการให้มีการคุยกันว่าจะลดอุปสรรคนี้อย่างไร” อภิวัฒน์ ระบุ

อภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่เริ่มยาได้เร็วจะสามารถช่วยให้ผู้ติดเชื้อไม่ต้องป่วยเป็นโรคเอดส์ ลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก โดยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง ๆ สามารถที่จะเกิดอาการข้างเคียงได้ต่ำ กดเชื้อได้ดี เร็วถึงภายในหนึ่งเดือนหลังรับยา เมื่อผู้ติดเชื้อได้รับเข้าไปสามารถที่จะก่อให้เกิด U=U ได้ในเวลาไม่นาน ลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้

ในทางกลับกัน ถ้าปล่อยคนไข้กลับบ้านแล้วนัดมาใหม่ อาจจะส่งผลถึงสภาพจิตใจของคนไข้และไม่ยอมที่จะรักษาต่อ และด้วยเหตุนี้ อาจจะมีความเสี่ยงในการส่งต่อเชื้อให้กับผู้อื่น ดังนั้นการเริ่มเร็ว ทั้งตรวจ ทั้งรักษา มีประโยชน์อย่างมาก สามารถช่วยให้ผู้คนที่ติดเชื้อกลับไปใช้ชีวิตตามเดิมได้อย่างรวดเร็ว ไปเรียน ไปทำงาน กลับสู่สังคมได้ตามเดิม เรื่องนี้สำคัญมาก ระบบสาธารณสุขต้องเข้ามาสนับสนุน

อนึ่ง ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายว่าจะยุติเอดส์ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ. 2030 ตามที่ UNAIDS สหประชาชาติ ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้

แน่นอนว่า หนึ่งในหนทางจะไปสู่ความสำเร็จได้ คือการเข้าถึงผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว รักษาและจ่ายยาต้านไวรัสให้โดยทันที