ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของทุกปลายปีไปแล้ว ที่สภาพอากาศโดยเฉพาะในมหานครใหญ่จะถูกปกคลุมและปนเปื้อนด้วยฝุ่น “PM2.5” ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อสุขภาพของผู้คน

ประเทศไทยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาต้องเผชิญหน้าจากปัญหานี้มาโดยตลอด ไม่ว่าต้นตอจะมาจากธรรมชาติอย่างควันไฟป่าในประเทศและนอกประเทศที่ลุกลามเป็นวงกว้าง ไปจนถึงการเกิดฝุ่นจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินการโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

วันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครที่หนาแน่นไปด้วยรถราและผู้คนสามารถวัดค่าดัชนีอากาศได้สูงถึง 187 ซึ่งอันตรายถึงขั้นที่ควรจะต้องสวมหน้ากากป้องกัน PM2.5 เมื่อออกจากที่พักอาศัยและอาคาร เพราะอากาศนั้นอันตรายต่อหัวใจและปอดเป็นอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยล่าสุดจาก London School of Hygiene & Tropical Medicine ที่เผยแพร่ในวารสาร Epidemiology ได้พบว่า “แอมโมเนียม” (Ammonium) หนึ่งในอนุภาคที่อยู่ใน PM2.5 มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิตสูงกว่าสารเคมีอื่น ๆ ที่อยู่ใน PM2.5

งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อค้นพบจากโครงข่ายการวิเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในด้านการศึกษาวิจัยสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ที่เรียกว่า Multi-Country Multi-City (MCC) Collaborative Research Network

PM2.5 ละอองฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่อันตรายที่สุดในมลภาวะทางอากาศเกิดจากการรวมตัวกันของอนุภาคเล็ก ๆ และละอองของเหลวในอากาศรวมกัน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากทั้งไฟป่า ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งไอเสียจากยานยนต์ โดยเชื่อกันว่าผงฝุ่นคาร์บอนดำ (Black Carbon) คือส่วนประกอบของ PM2.5 ที่อันตรายต่อสุขภาพที่สุด

แต่กลับกลายเป็นว่า จากการวิเคราะห์ของทีมวิจัยที่วิเคราะห์ข้อมูลจาก 210 เมือง จาก 16 ประเทศทั่วโลกระหว่าง ปี 1999 – 2017 พบว่าอันตรายที่เกิดขึ้นกับสุขภาพของผู้คนนั้นมีที่มาหลากหลายตามแต่สัดส่วนขององค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไปใน PM2.5

หนึ่งในอนุภาคที่อันตรายที่สุดของ PM2.5 คือ แอมโมเนียม (NH4+) ซึ่งมีที่มาจากการใช้ปุ๋ยในการเกษตรและการปศุสัตว์ และความอันตรายต่อสุขภาพของ PM2.5 จะเพิ่มขึ้นจาก 0.6% เป็น 1% เมื่อสัดส่วนปริมาณของแอมโมเนียมเพิ่มจาก 1% เป็น 20% ในฝุ่น PM2.5

            ในเวลานี้ เมืองที่การปนเปื้อนของแอมโมเนียมในอากาศสูง มีทั้ง อาคิตะ อาโอโมริ และเซ็นได ในญี่ปุ่น และลอนดอน ออนตาริโอ และซาร์เนีย ในแคนนาดา ซึ่งเมืองเหล่านี้เป็นเมืองที่มีการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์เป็นหลัก ทำให้เกิดการปนเปื้อนแอมโมเนียมใน PM2.5 เป็นจำนวนมากและเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของผู้คน ดังนั้นแล้ว แก้ปัญหาที่เกษตรกรรมและการปศุสัตว์อาจจะสามารถช่วยลดอันตรายจากมลภาวะทางอากาศได้

“เรารู้ว่าผงฝุ่นคาร์บอนดำใน PM2.5 เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตามเรารู้เรื่องแอมโมเนียมกันค่อนข้างน้อย ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของแอมโมเนียในอากาศ โดยมีต้นตอมาจากกระบวนการทำการเกษตรเช่นการให้ปุ๋ยหรือการเลี้ยงสัตว์ ด้วยการใช้เทคนิคเชิงสถิติขั้นสูงในการแยกผลกระทบจากองค์ประกอบของฝุ่นละอองออกมา เราพบว่า แอมโมเนียมคืออาจจะอันตรายที่สุดในบรรดาองค์ประกอบทั้งหมดที่รวมเข้าด้วยกันเป็น PM2.5 ดอกเตอร์ปิแอร์ มาซเซลอต ผู้นำทีมวิจัย กล่าว

PM2.5 กำลังเป็นภัยอันตรายจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตประมาณ 4.1 ล้าน ถึง 5 ล้าน ราย ในปี2017 หลักฐานที่ค้นพบในระยะแรกพบความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสกับ PM2.5 และการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อสุขภาพก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเพื่อตามหาเหตุว่าทำไมถึงมีความแตกต่าง นักวิจัยจึงได้ทำการวิเคราะห์บทบาทของส่วนประกอบทางเคมีใน PM2.5 ในเชิงภาวะวิวิธพันธุ์

ทีมวิจัยได้วิเคราะห์องค์ประกอบหลักที่มีใน PM2.5 อาทิเช่น ซัลเฟต ไนเตรด แอมโมเนียม ผงฝุ่นคาร์บอนดำ สารอินทรีย์ ฝุ่นแร่ และเกลือทะเล จากนั้นก็ได้นำผลการวิเคราะห์มาผนวกรวมเข้ากับข้อมูลด้านอายุของผู้คน GDP อัตราความยากจน อุณหภูมิและพื้นที่สีเขียว ทั้งหมด เพื่อหาว่าอะไรกันแน่ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ

ปัจจัยเสี่ยงที่อันตรายต่อสุขภาพจาก PM2.5  นั้น กลับกลายเป็นว่าทีมวิจัยพบว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณฝุ่นผงคาร์บอนำ หรือสารอินทรีย์ อย่างที่เข้าใจกัน อีกทั้งก็ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงบทบาทของซัลเฟต ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือประเทศอย่างสหราชอาณาจักร เยอรมนี และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จะพบว่า PM2.5 มีอันตรายค่อนข้างน้อยเพราะว่าประเทศเหล่านั้นมีไนเตรดปนเปื้อนค่อนข้างสูง นั่นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของผลกระทบที่มาจาก PM2.5 ตามแต่ละพื้นที่

ดอกเตอร์อันโตนิโอ กัสปารินี่ หนึ่งในสมาชิกของทีมวิจัย กล่าวว่า ผลจากการศึกษาครั้งนี้สำคัญมากต่อนโยบายด้านมลภาวะในอนาคต การพบเจอแล้วว่าอะไรที่อันตรายที่สุดจากการปล่อยมลภาวะสามารถนำช่วยให้รู้ได้ว่าพื้นที่ไหนในโลกต้องสนใจกับปัญหาใด และจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร

“ฝุ่นควันเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติและชั้นบรรยากาศอยู่แล้ว อีกทั้งยังสามารถมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้อีกด้วย งานค้นคว้าของเราชี้ให้เห็นถึงอันตรายจากแอมโมเนียมและยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหานี้ เช่นการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมให้มีการลดการปล่อยมลภาวะจะส่งผลสำคัญต่อสุขภาพสาธารณะ อย่างไรก็ตามก็อย่าลืมว่าไม่ใช่แค่เพียงแอมโมเนียม แต่ทุกองค์ประกอบที่อยู่ใน PM2.5 ล้วนแล้วแต่อันตราย ดังนั้นการลดการปล่อยมลภาวะจากทุกภาคส่วนก็เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะมีสุขภาพที่ดี” ดอกเตอร์กัสปารินี่ ระบุ

อ้างอิง
https://www.lshtm.ac.uk/newsevents/news/2021/specific-components-air-pollution-identified-more-harmful-others
https://journals.lww.com/epidem/Abstract/9000/Differential_mortality_risks_associated_with_PM2_5.98193.aspx