ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดสธ. เผยต้องเปิดศูนย์ฉุกเฉินด้านการแพทย์ฯ บริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 ใน 14 จังหวัดพื้นที่สีแดงถูกฝุ่นปกคลุมนานติดต่อกัน 3 วัน คาดการณ์ฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ย้ำออกจากบ้านต้องเช็กสภาพอากาศด้วย ขณะที่ผู้ป่วยจากฝุ่นแค่สัปดาห์เดียว เพิ่มขึ้นกว่า 1.6 แสนคน  


เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2566 นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ 14 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งมีฝุ่น PM2.5 ที่เกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดต่อกันมาถึง 3 วันแล้ว จึงจำเป็นต้องเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM 2.5 ใน 14 จังหวัด เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ

สำหรับทั้ง 14 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง ประกอบด้วย 1.ลำพูน (อ.เมือง อ.ลี้) 2.เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.ฮอด อ.เชียงดาว อ.แม่แจ่ม) 3.สุโขทัย (อ.เมือง) 4.นนทบุรี (อ.เมือง อ.ปากเกร็ด) 5.ปทุมธานี (อ.คลองหลวง) 6.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา) 7.สระบุรี (อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เมือง) 8.อ่างทอง (อ.เมือง) 9.สมุทรสาคร (อ.เมือง อ.กระทุ่มแบน) 10.ราชบุรี (อ.เมือง) 11.สมุทรสงคราม (อ.เมือง) 12.สมุทรปราการ (อ.พระประแดง อ.เมือง อ.บางเสาธง) 13.นครพนม (อ.เมือง) และ 14.กทม. พบ 23 เขตใน 50 เขต โดยค่าเฉลี่ย PM 2.5 อยู่ที่ 101 - 158 มคก./ลบ.ม.

1

รองปลัด สธ. กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจากมลพิษทางอากาศในระบบ HDC ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม 2566 พบว่า สัปดาห์นี้มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจำนวน 376,165 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 163,491 ราย โดยกลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ พบ 165,879 ราย เพิ่มขึ้น 72,430 ราย กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ พบ 80,248 ราย เพิ่มขึ้น 31,571 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ พบ 70,206 ราย เพิ่มขึ้น 29,605 ราย โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองอุดตันขาดเลือด พบ 54,434 ราย เพิ่มขึ้น 26,828 ราย

อย่างไรก็ตาม ช่วงวันที่ 23-29 ม.ค. 2566 ประชาชนมีพฤติกรรมการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น 76% ไม่เผาขยะ กระดาษ หรือจุดธูป 59.7% และปิดประตูระหว่างทำงาน 51.6% แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนคือวันที่ 16-22 มกราคม 2566 ขณะที่พฤติกรรมการงดออกกำลังกายกลางแจ้ง การลดระยะเวลาออกนอกบ้าน และการตรวจเช็กคุณภาพอากาศก่อนออกนอกบ้าน มีการปฏิบัติลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 

“ขอย้ำให้ประชาชนตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน หากค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพรุนแรงกว่าคนทั่วไป ส่วนประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน และหากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์” นพ.ณรงค์ กล่าว