ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ เผย มี อบจ. 8 จังหวัด ยื่นประเมินศักยภาพรับการถ่ายโอนฯ แล้ว เชื่อภาพรวมมีไม่ต่ำกว่า 30 จังหวัด คาดปีแรกมี รพ.สต.เข้าร่วมราว 2,000 แห่ง


นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจฯ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าจะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกือบ 2,000 แห่ง จาก 9,700 แห่งทั่วประเทศ ที่สามารถถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้ภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ได้รับเอกสารคำขอรับการประเมินจาก อบจ. รวมแล้ว 8 จังหวัด แต่จากข้อมูลที่ได้ติดต่อพูดคุยกันในหลายๆ จังหวัด คาดว่าจะมี อบจ. ไม่น้อยกว่า 30 จังหวัดที่ส่งคำขอรับแบบประเมิน โดยในวันที่ 15 พ.ย. 2564 จะเป็นวันสุดท้ายสำหรับการยื่นคำขอรับการประเมินในปีนี้

ทั้งนี้ ในวันที่ 16 พ.ย. 2564 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ อีกครั้ง เพื่อวางแผนลงพื้นที่ประเมิน อบจ. ทั้งหมด ที่ส่งคำขอรับการประเมินเพื่อเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนภารกิจฯ เพื่อให้การประเมินแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ย. 2564

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า อบจ.แรกที่มีการส่งคำขอรับการประเมินมาที่คณะอนุกรรมการฯ หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษา ประกาศหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยฯ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา คือ อบจ.ศรีสะเกษ โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ประเมินไปแล้วเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนจะมีมติให้ความเห็นชอบในการอนุมัติให้ผ่านการประเมินในระดับดีเลิศ

“ตัวเกณฑ์ชี้วัดการะจายอำนาจได้ออกเป็นเกณฑ์ชี้วัดทั้งหมดประมาณ 5-6 ตัวชี้วัด ซึ่งทาง อบจ. ศรีสะเกษมีหลักฐาน-เอกสารที่ผ่านเกณฑ์ชี้วัดทั้งหมด ตามเกณฑ์ผ่านในระดับที่เรียกว่าดีเลิศ ซึ่งสามารถรับถ่ายโอนได้ทั้งจังหวัด ซึ่งอยู่ที่ อบจ. ว่าจะเลือกรับจำนวนกี่แห่ง” นายเลอพงศ์ กล่าว

สำหรับการประชุมเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ประชุมมีมติดังนี้

1. ให้รวบรวมข้อมูลการประเมินความพร้อมในการรับถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย และ รพ.สต. ของ อบจ. ตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.)

2. ให้แบ่งทีมประเมินความพร้อมเป็น 4 ทีม โดยมอบหมายให้อนุกรรมการฯ เข้าร่วมในแต่ละทีม

3. ให้ทีมประเมินความพร้อม รายงานผลต่อคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามระดับความพร้อม ได้แก่ ระดับดี ดีมาก และดีเลิศ

4. ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แจ้งผลการประเมินความพร้อมให้ อบจ. ที่ขอรับการประเมินทราบ และให้ สปน. จัดทำแบบสรุปจำนวน ประเภท และรายละเอียดเงินเดือนและค่าตอบแทนของบุคลากรที่ประสงค์จะถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. พร้อมแจ้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการ

5. ให้แจ้งผลการประเมินความพร้อมให้ อบจ. ศรีสะเกษทราบ และจัดทำข้อมูลตามข้อ 4 และแจ้ง สธ. ให้ดำเนินการถ่ายโอนต่อไป