ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2564 เป็นต้นมา สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) มีการปรับเปลี่ยนการนำใหม่ มีผู้อำนวยการท่านใหม่คือ “พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ”

ชื่อของ “พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ” เป็นที่รู้จักในวงการสาธารณสุขอย่างกว้างขวาง จากผลงานจำนวนมาก ตั้งแต่การเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนที่พลิกฟื้นวิกฤตขาดสภาพคล่อง จนสามารถกอบกู้โรงพยาบาลกลับมาเป็นบวก และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่อยไปจนถึงการวางระบบโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง จนผ่านการรับรองคุณภาพเป็นครั้งแรก นี่ยังไม่รวมถึงผลงานทางวิชาการและผลงานการบริหาร ตลอดจนการเป็นตัวแทนในอีกหลากหลายวาระ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

แต่ทว่า สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ” เป็นกำลังหลักในฐานะผู้ขับเคลื่อนประเด็น “Patient and Personnel Safety” ในประเทศไทย จนนำมาสู่นโยบาย 2P Safety ในทุกวันนี้

ก่อนที่ “พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ” จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้อำนวยการ สรพ. เธอได้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการมายาวนานถึง 7 ปี มองเห็นมิติการทำงานรอบด้านอย่างทะลุปรุโปร่ง และนี่คือบางช่วงบางตอนของ “วิสัยทัศน์” ที่เธอได้เล่าให้ “The Coverage” ฟังในวันที่เข้ารับตำแหน่งวันแรก

เส้นทาง ‘สรพ.’ จากโครงการวิจัยที่เดินทางมาถึงจุดพีค

สำหรับคนที่อาจไม่คุ้นเคย “ผู้อำนวยการ สรพ.” เริ่มต้นอธิบายให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า เดิมแล้ว องค์กรนี้เป็น “งานวิจัยกลไกส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อปี 2540 และต่อมาในปี 2542 ก็ได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานในกำกับของ สวรส. ที่มีชื่อว่า “สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล” หรือ พรพ.

กระทั่งในปี 2552 หน่วยงานนี้ได้ขยับมาเป็น “สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล” (สรพ.) ซึ่งจัดตั้งตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) พ.ศ.2552 โดยมีบทบาทหน้าที่หลักคือการพัฒนามาตรฐานกระบวนการประเมินและรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล ภายใต้หลักการที่ว่า “คุณภาพสถานพยาบาล” ควรจะมี “บุคคลที่สาม” เป็นผู้ให้การประเมินและรับรอง

ส่วนหน้าที่อื่นๆ ของ สรพ. ยังประกอบด้วย การใช้องค์ความรู้และวิชาการ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบสุขภาพ รวบรวมให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ กับสถานพยาบาลในทุกสังกัด เพื่อพัฒนาระบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ส่งเสริมการทำงานวิจัยในระบบบริการสุขภาพ ตลอดการอบรมบุคลากรด้านสาธารณสุข ให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาคุณภาพ

ปัจจุบันบทบาทของ สรพ. จะดูแลในส่วนของการประเมินและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ที่มีจำนวนอยู่กว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะอยู่บนหลักการของความสมัครใจ (voluntary) ไม่ได้มีการบังคับ

พญ.ปิยวรรณ เล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จากการที่ สรพ. ได้พัฒนามาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับ ด้วยกระบวนการประเมินและรับรองที่เป็นระดับสากล เทียบเท่าองค์กรต่างประเทศ ทั้งในส่วนมาตรฐานและการพัฒนาผู้เยี่ยมสำรวจ ทั้งหมดได้ดำเนินขึ้นมาจนถึง “จุดพีค”

จุดพีคที่ว่าคือจากจำนวนโรงพยาบาลกว่า 1,400 แห่ง มีที่สมัครใจเข้าร่วมการรับรองกระบวนการคุณภาพ Healthcare Accreditation หรือ HA ของ สรพ. ขึ้นมาจนถึงประมาณ 50-60% ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มาก

อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น จุดพีคนี้ก็กำลังจะร่วงหล่นลงเนื่องด้วยภาระงานของแต่ละโรงพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น กระบวนการจัดเยี่ยมสำรวจ รวมไปถึงการจัดฝึกอบรมต่างๆ ที่เคยทำล้วนมีข้อจำกัด เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางการเงินที่ล้วนเผชิญกันในทุกองค์กร ดังนั้นเธอจึงมองว่าจุดของ สรพ. ที่อยู่บนยอดเขาขณะนี้ กำลังจะแผ่วลงจากสถานการณ์รอบด้าน

เธอตีความสิ่งที่ สรพ. จะต้องเป็นหลังจากนี้ตาม 3 ตัวอักษรขององค์กร คือ “H-A-I” โดย “H” คือ Humanization ยึดการบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ส่วน “A” คือ Accreditation Standard ใช้มาตรฐานเดียวกันกับที่ประเมินโรงพยาบาล กลับมาเป็นหลักในการขับเคลื่อนและปรับระบบของ สรพ. ให้เป็นโมเดลตัวอย่าง และส่วนสุดท้าย “I” คือ Integrity, Integrate และ Intrend หรือการมีธรรมาภิบาล บูรณาการ และทันสมัย ซึ่งสรุปโดยรวมคือ “บริหารด้วยหัวใจ ใช้มาตรฐาน มีธรรมาภิบาล บูรณาการและทันสมัย”

ขณะที่วิสัยทัศน์เดิมขององค์กรที่มีอยู่คือ “ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพและไว้วางใจได้ ด้วยมาตรฐาน HA” จะยังคงความต่อเนื่อง เพียงแต่ผู้อำนวยการรายนี้จะยกระดับและสร้างความเข้มแข็งโดยเพิ่มขึ้นมา 1 คำ นั่นคือ “ในระดับสากล”

เราจะเดินสอดคล้องกับแผนของประเทศ หรือของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะยกระดับความเข้มแข็งให้ระบบบริการสุขภาพของไทย ให้สมกับเป็นอันดับหนึ่งในสามของเอเชีย ดังนั้นในฐานะองค์กรหนึ่ง สรพ. ก็พร้อมที่จะก้าวตามทิศทางนั้น ภายใต้กลไกสำคัญของเราคือมาตรฐาน HA ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพมีคุณภาพและไว้วางใจได้ในระดับสากล

อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย

เป้าหมายในฐานะผู้อำนวยการ สรพ. ตลอดเส้นทาง 4 ปีนับจากนี้ เธอจึงนิยามสิ่งที่องค์กรจะเป็นไปอย่างสั้นๆ ว่า “อยู่รอด อยู่ร่วม และ อยู่อย่างมีความหมาย”

“อยู่รอด” เป็นเป้าหมายในปีแรก 2565 ซึ่งจุดประสงค์หลักคือจะทำให้องค์กรมีศักยภาพ มีความมั่นคง มีผลการดำเนินงานดี และที่สำคัญบุคลากรต้องมีความสุข หรืออธิบายง่ายๆ ว่าเป็นช่วงของการพัฒนา “งาน คน เงิน ของ”

“งาน” ก็จะต้องพัฒนาให้ High Tech, High Touch และ High Trust ส่วน “คน” ก็จะต้อง High Potential และ High Performance ขณะที่ “เงิน” ก็จะต้องสร้างความมั่นคงด้วย High Income ผ่าน “ของ” ที่เป็น High Value Product คือกระบวนการรับรองคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของ “Customer”

สำหรับ Customer ในที่นี้ เธอขยายความว่าแม้ผู้ใช้บริการของ สรพ. จะเป็นโรงพยาบาล แต่ความจริงแล้วเมื่อ Product ของ สรพ. คือ “กระบวนการประเมินและรับรองคุณภาพ” อันเป็นสิ่งที่จะส่งผลไปถึง Ultimate Goal Customer หรือผู้ใช้บริการหลักที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง นั่นก็คือประชาชนทุกคนที่เดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาล

ดังนั้น แม้การดำเนินงานของ สรพ. จะไม่ได้แตะไปที่ประชาชนโดยตรง แต่ก็จะส่งผลผ่านการทำให้ระบบบริการมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี เพื่อนำไปสู่การที่ประชาชนได้รับบริการ และมีสุขภาพที่ดี

“อยู่ร่วม” คือเป้าหมายถัดมาในปี 2566 ซึ่ง สรพ. จะไม่ยืนโดดเดี่ยว แต่ต้องขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้วยความร่วมมือทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร เริ่มตั้งแต่หน่วยงานที่อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันอย่าง สวรส. ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชน เมื่อร่วมกับ สรพ. ที่เกี่ยวข้องโรงพยาบาล ก็น่าจะสามารถสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผ่านทั้งสามส่วนนี้ และส่งผลลัพธ์ที่ดีออกมาสู่สังคมได้

เช่นเดียวกับกลยุทธ์การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือผ่านผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปัจจุบันพบว่าการรับรองคุณภาพและมาตรฐานมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเลิศหลายอย่าง และสามารถไปแตะกับองค์กรหรือสภาวิชาชีพได้ หรือแม้แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการรับรองคุณภาพแบบเดียวกัน เช่น Joint Commission International (JCI) ทาง สรพ.เองก็ไม่ได้คิดที่จะเป็นคู่แข่งขัน หากแต่จะหาวิธีทำงานร่วมกันในลักษณะของการเป็นพาร์ทเนอร์ ที่จะวิน-วินร่วมกันได้ทุกฝ่าย

“เพราะองค์กรในลักษณะที่ให้การรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลทั้งหลาย ล้วนมีเป้าหมายเหมือนกันคืออยากให้ระบบบริการของโรงพยาบาลมีคุณภาพและมีความปลอดภัย ฉะนั้นในเมื่อเป้าหมายเหมือนกัน ก็อาจไม่จำเป็นจะต้องมาแข่งขันกัน แต่น่าจะเข้ามาช่วยกัน ให้การยอมรับซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะทำให้ระบบบริการสุขภาพเกิดความเข้มแข็ง” ผู้อำนวยการ สรพ. ให้แนวคิด

ความร่วมมือที่ผู้อำนวยการป้ายแดงรายนี้มอง จึงไม่ใช่เพียงเพื่อการยกระดับกระบวนการรับรองคุณภาพ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่หลักของ สรพ.เองเท่านั้น หากแต่ยังต้องการเป็นหนึ่งในตัวจิ๊กซอว์ที่จะต่อเชื่อมกับการขับเคลื่อนนโยบายหรือประเด็นสาธารณะของประเทศ เช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดกลไกใหม่ๆ อย่าง Home Isolation (HI) ก็จะเป็นหน้าที่ของ สรพ. ในการเข้าไปดูว่ามีคุณภาพและมาตรฐานเป็นอย่างไร

“อยู่อย่างมีความหมาย” นี่คือเป้าหมายสูงสุดหรือ Ultimate Goal ที่ “พญ.ปิยวรรณ” ตั้งใจให้เกิดขึ้นในปี 2567 คือให้ สรพ. กลายเป็นตัวแทนในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ ที่ใครๆ ก็นึกถึง ขับเคลื่อนผ่านการใช้องค์ความรู้และงานวิจัย สะท้อนออกมาเพื่อให้ประชาชนและสังคมได้เห็นว่าระบบบริการที่มีอยู่เป็นอย่างไร สิ่งที่ดีหรือไม่ดีนั้นอยู่จุดใด ขณะที่ตัวองค์กรก็จะไม่ใช่แค่การมีชีวิตอยู่รอด แต่ก็จะอยู่แบบมีชีวิตชีวา คนทำงานมีความสุข เป็นกัลยาณมิตรที่ทำงานร่วมกันได้กับทุกคน

จากแผนการทั้งหมด เธอตั้งใจจะนำให้องค์กรนี้เป็น “องค์กรที่มีชีวิต องค์กรที่เป็นมิตร และองค์กรที่ใครๆ ก็คิดถึง” ซึ่งเธอเชื่อว่าทั้งหมดจะค่อยๆ ผลิดอกออกผล ทำให้ในท้ายที่สุดตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป จะเป็นจุดที่ สรพ. “อยู่ได้อย่างยั่งยืน”

อัพเกรด ‘มาตรฐาน’ ใหม่ พัฒนาสู่ ‘3P Safety’

แม้จะฉายภาพเส้นทางการทำงานตลอด 4 ปีนับจากนี้ให้เห็นเป็นรูปร่าง แต่สิ่งที่ “พญ.ปิยวรรณ” มุ่งเป้าที่จะทำในช่วงต้นนั้น คือเรื่องของ “การสื่อสาร” ที่หลังจากนี้ สรพ. จะต้องเดินหน้าทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลต่างๆ ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19 ซึ่งมีโรงพยาบาลจำนวนมากที่รอการรับรอง ขณะที่ สรพ. ก็อาจจัดเยี่ยมสำรวจไม่ได้ ดังนั้นจะเดินหน้าก้าวไปร่วมกันได้อย่างไร

จุดเปลี่ยนหนึ่งคือการใช้ “มาตรฐานฉบับใหม่” ในกระบวนการรับรองคุณภาพ ซึ่งมาตรฐานฉบับใหม่นี้จะถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ความเข้มแข็งของระบบไอที หรือการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เป็นต้น ทำให้ช่วงต้นนี้ สรพ.จะใช้กลไกการรับรองมาตรฐาน เป็นตัวสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกับโรงพยาบาล เพื่อที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

เป้าถัดมาคือการเริ่มทำองค์กรให้เป็นที่รู้จัก ให้เกิดการรับรู้ว่ามี สรพ. ที่พร้อมยืนเคียงข้างกับโรงพยาบาลและประชาชน เป็นกลไกหนึ่งในการทำให้ระบบบริการสุขภาพไทยมีความแข็งแรง ตามมาด้วยส่วนที่สำคัญคือการต่อยอดนโยบาย Patient and Personnel Safety หรือ “2P Safety” ที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนกลายมาเป็น “3P Safety” นับจากนี้

พญ.ปิยวรรณ อธิบายว่า “Patient” คือคนที่เจ็บป่วยและเข้ามาในระบบบริการแล้ว ส่วน “Personnel” คือบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นการใส่ใจความปลอดภัยของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นคือการป้องกันเฉพาะผู้ป่วยและบุคลากรนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีอีกส่วนที่สำคัญในการนำพาโรคให้แพร่ไปได้ นั่นคือ “People” ประชาชนหรือญาติผู้ป่วยที่เข้ามาติดต่อด้วยนั่นเอง

ถ้าประชาชนทั่วไปไม่ได้ตระหนักรู้ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการ ก็จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย รวมถึงในอนาคตที่เราจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เกิดการดูแลรักษาคนไข้ภายนอกโรงพยาบาลมากขึ้น ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น People จึงจะมีความสำคัญ และมีส่วนช่วยสนับสนุนในระบบบริการสุขภาพได้นับจากนี้ แม้แต่การลุกขึ้นมามี Health Literacy ดูแลตัวเองได้ดี ไม่เป็นโรค หมอและพยาบาลก็ได้ดูแลเฉพาะคนไข้ที่ควรจะต้องอยู่ในโรงพยาบาล ไม่แออัด ดังนั้นถ้าเราขับเคลื่อนทั้ง 3P นี้ ก็จะทำให้ระบบบริการสุขภาพของเราเดินหน้าได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ส่วนที่ สรพ. ยังจะต้องดำเนินขณะนี้ คือการสร้างองค์ความรู้และงานวิจัย ที่จะตอบสนองการแข่งขันในระดับสากล พร้อมก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี วิทยาการ และโลกยุคดิจิทัล ซึ่งเมื่อยกระดับทิศทางไปสู่สากลแล้ว บุคลากรเองก็จะต้องเพิ่มทักษะทั้งในเรื่องของภาษา และการเชื่อมต่อกับองค์กรต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันเมื่อ สรพ. เป็นองค์กรหนึ่งที่จะต้องหารายได้นอกเหนือไปจากเงินงบประมาณที่ได้รับ ดังนั้นอีกส่วนที่ขาดไปไม่ได้ จึงเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้เพื่อมาสนับสนุนการดำเนินงาน แต่นอกเหนือจากการฝึกอบรม หรือการเยี่ยมสำรวจแบบเดิมแล้ว การดำเนินงานด้วยรูปแบบโครงการใหม่ๆ หรือการจับมือร่วมกับองค์กรอื่นๆ จะมีส่วนช่วยเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

กระจายคุณภาพบริการ ลงรากสู่ระบบปฐมภูมิ

เมื่อมองถึงภาพฝันของโรงพยาบาลในอุดมคติ มุมมองของผู้อำนวยการ สรพ. เชื่อว่าไม่มีรูปแบบที่สำเร็จรูป เพราะแต่ละโรงพยาบาลล้วนมีบริบท มีพื้นที่ มีผู้รับบริการ รวมทั้งปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงอาจไม่สามารถฝันให้โรงพยาบาลเป็นแบบใดแบบหนึ่ง

หากแต่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นมากกว่า คือการที่คนทำงานในแต่ละโรงพยาบาล สามารถมาที่จะมาร่วมฝันได้ว่าอยากให้โรงพยาบาลของเขาเป็นอย่างไรภายใต้บริบทของพื้นที่ ที่จะตอบโจทย์และสามารถดูแลประชาชนในเขตรับผิดชอบได้อย่างมีคุณภาพและความปลอดภัย

“ฝันสำหรับ รพช. อาจเป็นแบบหนึ่ง ฝันของ รพ.เอกชน ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง รวมถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในแต่ละแห่งก็แตกต่างกัน อย่างคนไข้เอกชนคงไม่อยากรอนาน เพราะเป็นบริบทที่รีบไปรีบกลับ แต่คนไข้ที่มา รพช.อาจอยากอยู่นานก็ได้ เพราะเป็นโอกาสที่จะได้พบเจอ พูดคุยกับเพื่อนต่างๆ นานา มันจึงแตกต่างกัน แต่คุณต้องหาให้ได้ว่าความต้องการของผู้ใช้บริการในแต่ละจุดเป็นอย่างไร” พญ.ปิยวรรณ ให้มุมมอง

ภายใต้หลักคิดที่ว่ามาทั้งหมด เธอจึงเปิดเผยถึงแนวคิดที่จะเริ่มออกแบบเพื่อให้เกิดกลไกการรับรองคุณภาพและความปลอดภัย “โดยประชาชน” คือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เช่น การประเมินระบบ Home Isolation ซึ่งผู้ที่จะประเมินระบบนี้ได้ดีที่สุดก็คือประชาชน สอดคล้องไปกับกลไกการพัฒนามาตรฐานใหม่ ที่จะมีพื้นฐานจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

ขณะเดียวกัน พญ.ปิยวรรณ ยังแย้มถึงโครงการในอนาคต นั่นคือบทบาทของ สรพ. ที่จะเข้าไปประเมินและรับรองคุณภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งอยู่ในแผนที่จะต้องออกแบบต่อไปว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง ทาง สรพ. จะมีการประเมินและรับรองในกลุ่มนี้อย่างไร

ตามแผนยุทธศาสตร์แล้วในช่วงแรก สธ.จะเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการประเมิน รพ.สต.ขึ้นมาเอง หรือที่เรารู้จักกันว่า รพ.สต.ติดดาว แต่หลังจากนั้นจะให้บุคคลที่สามเป็นผู้ประเมิน ดังนั้นแผนของ สรพ. เองก็จะต้องออกแบบว่าเมื่อถึงตรงนั้นเราจะประเมินและรับรองกลุ่ม รพ.สต.อย่างไร 

ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งจึงเป็นการสร้างผู้เยี่ยมสำรวจ เพราะเดิมบุคลากรใน สรพ. ที่มีอยู่ราว 70 คน ยังดูแลโรงพยาบาลที่มีอยู่กว่า 1,400 แห่งให้ครอบคลุมได้ค่อนข้างยาก ฉะนั้นหากมีการดูแล รพ.สต. ที่มีอยู่หลักหมื่นแห่งทั่วประเทศ คงจำเป็นที่จะต้องสร้างผู้เยี่ยมสำรวจที่เป็นพาร์ทไทม์เข้ามาเสริมการทำงาน

ส่วนการออกแบบกระบวนการรับรองนั้น อาจถูกพัฒนาให้เป็นการรับรองระบบสาธารณสุขในระดับอำเภอ หรือ District Health System Accreditation ที่จะเป็นกลไกการผ่องถ่ายกระบวนการรับรองให้กับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่จะช่วยในการกำกับดูแล รพ.สต. ให้มีคุณภาพและมาตรฐานอีกทอดหนึ่ง หรือการต่อยอดไปถึง Healthcare Network Accreditation เพื่อรับรองการดูแลทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อ หรือการดูแลในบางโรคที่จะต้องเป็นระดับจังหวัด ซึ่งจะไม่ใช่เพียงมาตรฐานของโรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่ง

“ขณะนี้เราจึงได้เริ่มออกแบบวางคู่ขนานไปบ้างแล้ว ทั้งการพัฒนา District Health System Accreditation และอีกส่วนคือเราได้เริ่มพัฒนามาตรฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยเริ่มจากเขตเมืองคือศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ที่ขณะนี้ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน ที่จะเป็นการนำร่องให้กับการพัฒนามาตรฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิต่อไป” ผู้อำนวยการ สรพ. ให้ทิศทางอนาคต