ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. จับมือ 21 องค์กรภาคีเครือข่ายลงนามปฏิญญาร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน (3P Safety) ระยะที่ 2 ปี 2567-2570 มุ่งสู่เป้าหมาย “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน”


เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) มอบหมายให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข เป็นผู้นำในการประกาศการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุขและประชาชน ร่วมกับ 21 องค์กรภาคีเครือข่าย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย  “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน” ซึ่งจัดโดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. 

1

นพ.ชลน่าน ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ได้เชิญชวนให้ก้าวล้ำจากการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขเป็นความปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยประกาศนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน (Patient, Personnel and People Safety หรือ 3P Safety) ผ่านวิดีโอ

ทั้งนี้ กำหนดให้มียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับ Global Patient Safety Action ขององค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงมีเป้าหมายความปลอดภัยที่มีแนวทางปฏิบัติ ครอบคลุมผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุขและประชาชน และให้มีการขยายความร่วมมือขององค์การต่างๆ ไปยังภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น รวมเป็น 21 องค์กร โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน” 

4

ด้าน นายสันติ กล่าวว่า นโยบาย 3P Safety มีสาระสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. กำหนดให้มีเป้าหมายความปลอดภัยเป็นระดับประเทศ และวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในรูปแบบ วิธีการ รวมถึงทรัพยากรต่างๆ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 2. ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระบบการรายงานและเรียนรู้ความเสี่ยงทางคลินิกและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับประเทศ  ตั้งแต่ระดับหน่วยงาน พื้นที่ส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง และระดับประเทศ และ 3. ส่งเสริมให้ผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุขและประชาชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และระบบสนับสนุนอื่นๆ เพื่อคุณภาพ  ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของทุกคน

“นโยบายนี้มีความสำคัญ จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรด้านสุขภาพ องค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา หน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ครอบคลุมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน เพื่อส่งมอบระบบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยให้กับประชาชน นับเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทย ที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ สู่ความยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ ที่รับผิดชอบต่อสังคม ประชาชนทุกคนมีสุขภาวะที่ดี” นายสันติ กล่าว

4

ขณะที่ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า การจัดประชุมสัมมนา “การประกาศนโยบายขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน” และ “การเรียนรู้กลไกและวิธีการใช้เครื่องมือพัฒนาคุณภาพ (Quality Tools) สำหรับสมาชิก 3P Safety Hospital” จัดขึ้นระหว่างวันที่  29 - 30 พ.ย. 2566 เพื่อสื่อสารทิศทางการขับเคลื่อนโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ตามทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3P Safety ระยะที่ 2 โดยมีตัวแทนโรงพยาบาลกว่า 1,200 คน และเข้าร่วมจากระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมแล้วกว่า 1,000 โรงพยาบาล จากทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน 

สำหรับกิจกรรม ประกอบด้วย เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลตามมาตรฐาน HA การธำรงคุณภาพด้วยการพัฒนาต่อเนื่องด้วยระบบบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐาน การกำหนดประเด็นเป้าหมายความปลอดภัยที่มุ่งสู่ผลลัพธ์ความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน 

รวมถึงเทคนิควิธีการใช้งานเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพต่างๆ เช่น ระบบการรายงานและเรียนรู้ความเสี่ยงทางคลินิกและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับประเทศ  ระบบการสำรวจวัฒนธรรมความปลอดภัยของโรงพยาบาลออนไลน์ ระบบการรับฟังประสบการณ์ผู้ป่วยสู่การปรับระบบบริการ ระบบสารสนเทศเปรียบเทียบวัดระดับคุณภาพโรงพยาบาล เป็นต้น