ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรพ. จัดเวทีเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนหน่วยงานที่มีส่วนได้เสียสำคัญ รีวิวปรับปรุงมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 และรับฟังข้อคิดเห็นสำหรับการยกร่างมาตรฐานฯ ฉบับถัดไป เผยไทม์ไลน์เตรียมยกร่างฯ ในไตรมาส 3 และจะนำกลับรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในปี 2568 ก่อนเสนอขอการรับรองจาก ISQua ต่อไป


สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดสัมมนารับฟังข้อคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ณ โรงเแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนหน่วยงานที่มีส่วนได้เสียสำคัญ ในประเด็นการนำมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 สู่การปฏิบัติ และโอกาสในการพัฒนามาตรฐานฯ ในวงรอบการปรับปรุงฉบับถัดไป โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในระบบบริการสุขภาพ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมสัมมนาทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์

1

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า การสัมมนาในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 ว่ามีประเด็นใดที่ควรปรับปรุงบ้าง และ 2. ในการพัฒนามาตรฐานฯ ฉบับถัดไปคิดว่ามีเทรนด์หรือความท้าทายใหม่ๆ เรื่องใดที่อยากเพิ่มเติมบ้าง

“มาตรฐานฯ ฉบับปัจจุบัน คือฉบับที่ 5 ได้รับการรับรองธำรงคุณภาพจาก ISQua ในปี 2564 โดยมีอายุการรับรองตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 ถึง ก.พ. 2569 ดังนั้นมีการใช้งานมาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว และยังมีผลต่ออีก 2 ปี อย่างไรก็ดี ตามวงรอบแล้วเมื่อประกาศใช้มาตรฐานฯ ไประยะหนึ่งจะเป็นช่วงของการ Evaluate implementation เพราะดูผลว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร แล้ววางแผนในการพัฒนามาตรฐานฯ ฉบับใหม่ในปี 2567 เพื่อลงทะเบียนกับ ISQua ในปี 2568 และต่ออายุในปี 2569” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

4

5

พญ.ปิยวรรณ กล่าวต่อไปว่า การรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงพยาบาล ผู้เยี่ยมสำรวจ ประชาชนทั่วไป และกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย/ผู้เชี่ยวชาญในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการประชุมในวันนี้ ซึ่งเนื้อหาที่ให้ข้อเสนอแนะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ต้องสัมพันธ์กับแนวคิดของ Hospital Accreditation (HA) ต้องสัมพันธ์กับ IEEA และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เช่น ปัจจุบันมีการออกกฎหมาย PDPA ให้ความสำคัญกับเทเลเมดิซีน ฯลฯ เนื้อหาเหล่านี้สามารถเติมเข้ามาได้ และจะเป็นสิ่งที่เป็นเสน่ห์สำหรับมาตรฐาน HA ของไทย เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สถานพยาบาลเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว สรพ.จะเริ่มยกร่างมาตรฐานฯฉบับใหม่ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 โดยหากมีการปรับปรุงเล็กน้อยก็จะเป็นมาตรฐาน HA ฉบับที่ 5.1 แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงมากก็จะปรับเป็นมาตรฐานฉบับที่ 6 เลย จากนั้นเมื่อยกร่างแล้วเสร็จก็ต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วนำฉบับร่างกลับมารับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในปี 2568 ซึ่งหากมีประเด็นใดที่ต้องการเพิ่มเติมก็สามารถเสนอได้อีกรอบ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการยื่นขอการรับรองมาตรฐานจาก ISQua ต่อไป

4

4

พญ.ปิยวรรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากการรับฟังข้อเสนอแนะในที่เวทีประชุมแล้ว สรพ. ยังเปิดรับความคิดเห็นทางเอกสาร โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นในวันนี้สามารถยื่นข้อคิดเห็นเข้ามาในภายหลังก็ได้

“สรพ. คือองค์กร ส่วนการรับรองคุณภาพฯ คือกลไก วิสัยทัศน์ของเราต้องการให้โรงพยาบาลมีคุณภาพระดับสากล ประชาชนปลอดภัย ด้วยมาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล คำว่ามาตรฐานสากลคือแนวคิดสากลที่ ISQua กำหนด ซึ่งจะมี 3 เรื่องสำคัญ คือ Patients and Personal Safety, Continuous Improvement และ People-centered care โดยมีมาตาฐาน HA เป็นกลไกในการพัฒนาและอ้างอิงตาม guidelines and principles for the development of health and social care standards ซึ่งหากสถานพยาบาลนำมาตรฐาน HA ไปใช้ ก็เทียบเท่ากับการใช้มาตรฐานที่เป็น Best practice ระดับโลก” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

อนึ่ง บรรยากาศในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่าวงกระตือรือร้น ตั้งแต่ภาพรวมกรอบแนวคิดของมาตรฐาน HA และรายละเอียดของเนื้อหา ทั้งประเด็นด้านการบริหารจัดการองค์กรและมิติของผลการดำเนินงานระดับองค์กร ประเด็นด้านความปลอดภัย ประเด็นด้านการยึดคนเป็นศูนย์กลาง ประเด็นด้านการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเด็นใหม่ๆ ในบริบทของประเทศไทย เช่น การใช้ยา ใช้เลือด และใช้เวชภัณฑ์อย่างสมเหตุสมผล การขับเคลื่อนระบบ Paperless โดยที่ยังคงต้องรักษามาตรฐานการบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพให้มีคุณภาพ ครบถ้วน เป็นต้น

4