ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เกิดกระแสวิพากษ์​วิจารณ์ ตลอดจนการแสดงความไม่พอใจและการประกาศจุดยืนคัดค้านขึ้นในกลุ่ม “นักศึกษาแพทย์จบใหม่” อย่างกว้างขวาง ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย กองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัด สธ. ได้ออกเกณฑ์ “การคัดเลือกเพื่อบรรจุแพทย์ผู้ทำสัญญาชดใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2565 เข้ารับราชการในตำแหน่งนายแพทย์ปฏิบัติการ” (https://hr.moph.go.th/site/hr_moph/?page_id=229607)

เกณฑ์ดังกล่าว ระบุถึงรายละเอียดการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนายแพทย์ปฏิบัติการ สังกัดสำนักงาน สธ. รอบที่ 1 โครงการทั่วไป (จับสลาก)

กระแสความไม่พึงพอใจเกิดขึ้นทันทีหลังมีการเผยแพร่เกณฑ์ข้างต้นออกมา นั่นเพราะสาระสำคัญในเกณฑ์นี้ ได้สร้างผลกระทบต่อนักศึกษาแพทย์จบใหม่ที่กำลังจะ “เลือกสถานที่ใช้ทุน” เนื่องจากมีการกำหนดเกณฑ์การเลือกสถานพยาบาลที่สุ่มเสี่ยงต่อความไม่เป็นธรรมขึ้น

ประกาศได้ระบุถึง “เกณฑ์การตัดสิน” ไว้ตอนหนึ่งว่า ผู้ที่จะถือว่าเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ต้องเป็นผู้ที่ได้คะแนนรวมการประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 อยู่ในลำดับที่ 1-425 เท่านั้น โดยแบ่งสัดส่วนของคะแนนขั้นตอนที่ 1 : ขั้นตอนที่ 2 ออกเป็น 40:60

ในกรณีที่มีคะแนนรวมเท่ากัน ให้ผู้ที่ได้คะแนนสอบขั้นที่ 2 มากกว่า เป็นผู้ที่อยู่ในลำดับที่สูงกว่า ถ้าคะแนนการสอบขั้นตอนที่ 2 เท่ากันอีก ให้ผู้ที่ได้รับเลขประจำตัวสมัครเข้ารับการคัดเลือกก่อน เป็นผู้ที่อยู่ในลำดับที่สูงกว่า

นอกจากนี้ ประกาศยังได้ระบุถึง “การเลือกพื้นที่ปฏิบัติงานชดใช้ทุน” โดยเขียนเอาไว้ว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกและมีคุณสมบัติครบถ้วน คือได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมากแพทยสภา ภายในวันที่ 2 พ.ค. 2565 จะดำเนินการเลือกพื้นที่ปฏิบัติงานชดใช้ทุน โดยแบ่งตามรอบการแสดงความจำนงและจัดสรรพื้นที่เท่ากับแพทย์ผู้ทำสัญญาฯ ที่มีสิทธิ์เลือกพื้นที่ทั้งหมดโดยรอบที่ 1 มีสิทธิเลือกพื้นที่ก่อน สำหรับรอบที่ 2-3 ให้เลือกพื้นที่ที่เหลือตามลำดับ (https://drive.google.com/file/d/1TZxaNvpvbiQpaon05QoTwOtjYDqL9_rb/view?usp=drivesdk))

ที่ผ่านมา การประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะเป็นเพียงการสอบเพื่อพิจารณาว่า “ผ่าน-ไม่ผ่าน” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากเป็นการจัดสอบวัดความรู้ขั้นพื้นฐานในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้นผลการสอบจึงใช้สำหรับประเมินว่า “ผ่าน หรือ ตก” แต่ไม่ได้เปรียบเทียบว่า “ใครเก่งกว่าใคร” หรือใครมีความสามารถที่มากกว่า ด้วยเนื้อหาข้อสอบไม่ครอบคลุมความรู้ขั้นสูงในโรคหรือภาวะที่ซับซอน

มากไปกว่านั้น การเลือกสถานที่-สถานพยาบาลเพื่อใช้ทุนนั้น ในอดีตจะเป็นไปอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกันด้วยวิธีการ “จับสลาก” โดยพร้อมเพรียง

ไม่เคยมีกรณีการใช้คะแนนเปรียบเทียบเพื่อจัดลำดับคนในการให้สิทธิ “เลือกก่อน”

นั่นทำให้นักศึกษาแพทย์จบใหม่ ตลอดจน “อาจารย์แพทย์” หลายท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านแนวทางนี้อย่างรุนแรง

ผู้ช่วย ศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ สาขานิติเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ไม่เห็นด้วยมากๆ กับประกาศนี้ โดยประกาศนี้มีผลกระทบมากๆ กับนักศึกษาแพทย์จบใหม่ที่กำลังเลือกสถานที่ใช้ทุนมากๆ เนื่องจากมีกำหนดเกณฑ์ให้คนที่ได้คะแนนสอบการประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดีสุดแค่ 425 คนแรกได้รับการจับสลากก่อนคนอื่น

“ที่ไม่เห็นด้วยเพราะผลการสอบ ศ.ร.ว. (ศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ของนักศึกษาแพทย์เอาเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่านอย่างเดียว ไม่ควรเอาคะแนนมาเปรียบเทียบ นอกจากนี้ประกาศนี้มาหลังจากนักศึกษาแพทย์สอบเสร็จไปแล้วด้วยครับ ไม่ได้เป็นการตกลงกันก่อนมีการสอบเลย

“ปล. ปีนี้เป็นปีแรกที่ใช้ระบบแบบนี้ สรุปถ้าจะให้แก้ก็คือทุกคนที่จะใช้ทุน ควรจับสลากพร้อมกันครับ ไม่ควรให้แค่ 425 คนแรกได้จับก่อน” ผู้ช่วย ศ.นพ.สมิทธิ์ ระบุ

สอดคล้องกับ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 3 พ.ย. แสดงความคิดเห็นดังนี้

“ประสบการณ์ส่วนตัว ผมเองก็ผ่านการจับสลากใช้ทุนเหมือนหมอจบใหม่ส่วนใหญ่ จำได้ว่าเป็นปีแรกที่นำเอาระบบ intern กลับมาใช้ใหม่แบบที่ต้องมีการเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 1 ปี ก่อนออกไปใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) อีก 2 ปีที่เหลือ

“แม้ส่วนตัวจะไม่เคยเห็นด้วยกับการจับสลากใช้ทุน คิดว่ามันเป็นระบบที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการกระจายแพทย์เลย หลักฐานก็เห็นอยู่ผ่านมา 40-50 ปีที่มีการจับสลากใช้ทุน แพทย์ใน รพช.จังหวัดต่างๆ ก็ไม่เคยพอต้องอาศัยพึ่งน้องๆ แพทย์จบใหม่วนเวียนมาทำงานตามพันธะ 3 ปีแล้วก็ไปตลอดมา เข้าใจได้ว่าระบบ negative reinforcement (บังคับจัดแพทย์ลงตาม slot ที่ว่าง ไม่ใช้ทุนก็ใช้เงิน) มันทำง่ายกว่า positive reinforcement (สร้างระบบหรือแรงจูงใจที่ดีในการดึงดูดให้แพทย์อยากมาใช้ทุน) แต่ในเมื่อรัฐไม่เคยคิดจะเปลี่ยน mindset ระบบการจับสลากย่อมง่ายและยุติธรรมสุด

“อย่างไรก็ดี การตัดสินใจเปลี่ยนเกณฑ์จัดสรรแพทย์จบใหม่แบบฉับพลัน โดยวิธีอิงคะแนนสอบ นอกจากจะไม่ช่วยทำให้การจัดสรรแพทย์ดีขึ้น ยังก่อให้เกิดปัญหาและสร้างความแตกแยกในหมู่แพทย์จบใหม่ด้วยกันเอง แถมยังซ้ำเติมการขาดแคลนให้หนักขึ้น เมื่อหลายคนที่รู้ชะตาชีวิตตนเองอาจเลือกจะใช้เงินไปก่อนเลย นอกจากนี้ยังผิดหลัก common sense ที่ควรต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับรู้สิ่งเหล่านี้ก่อน เพื่อให้เขาสามารถวางแผนหรือปรับเปลี่ยน/ปรับปรุงเพื่อทำคะแนนได้ เช่น การสอบแล้วใช้คะแนนพิจารณารับแบบ Entrance/Admission หรือการประกวดต่างๆ การประกาศเกณฑ์แบบนี้ไม่เปิดโอกาสให้แพทย์จบใหม่ได้พยายามปรับปรุงคะแนนสอบตัวเองได้เลย ไม่ต่างอะไรกับการมัดมือชก

“ผู้มีอำนาจหน้าที่น่าจะได้รับ feedback ไปไม่น้อยแล้ว ปรับเปลี่ยนเถอะครับ อย่างน้อยกลับไปใช้วิธีเดิมในปีนี้ แล้วค่อย ๆ พัฒนาวิธีให้ดีขึ้นในปีถัดไป ที่สำคัญ สื่อสารให้เด็กๆ รับทราบก่อนครับ”

ทางด้าน ผศ.ดร.พญ.มยุรี หอมสนิท อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ช่วยคิดให้รอบคอบก่อนสั่งการใดๆ ด้วยว่าสิ่งที่ทำจะเกิดผลกระทบอะไรต่อวงการแพทย์ ต่อแพทยศาสตร์ศึกษาบ้าง สิ่งที่ทำจะส่งผลให้เกิดการแข่งขัน การเรียนแบบตัวใครตัวมัน เอาตัวรอดเพื่อให้ได้คะแนนสูงๆ โดยไม่จำเป็นต้องสนใจ performance ในการทำงานที่ในชีวิตจริงสำคัญที่สุด แต่ผู้เรียนอาจไม่ให้ความสำคัญเพราะมุ่งเป้าในการทำคะแนนหรือเปล่า ถ้าเช่นนั้นเราจะได้หมอที่ดี ที่เห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตัวเป็นกิจี่สองอย่างนั้นหรือ

“สิ่งใดๆ ที่จะตัดสินใจสั่งการในเรื่องของส่วนรวม ไม่ควรเอาความเห็นส่วนตัวหรือของคนส่วนน้อยเป็นตัวกำหนด การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งจะมีผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ตามมา ทุกอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ผู้บริหารควรมีวิสัยทัศน์ ควรคิดแบบ system thinking" ผศ.ดร.พญ.มยุรี ระบุ

ล่าสุด นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่า ขณะนี้รับทราบเรื่องกรณีการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนที่มีปัญหาแล้ว โดยจะทำเรื่องขอทราบข้อเท็จจริงจากผู้รับผิดชอบ และขอให้ทบทวนในประเด็นที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อแพทย์จบใหม่ต่อไป