ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรสรุปบทเรียนการรับมือโรคระบาดโควิด-19 ย้ำความผิดพลาดของรัฐบาลในการสั่งล็อกดาวน์ประเทศล่าช้า ส่งผลให้การระบาดลุกลามในตอนแรก แต่สามารถริเริ่มการให้วัคซีนได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ลดการระบาดในที่สุด

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะกรรมการสุขภาพและการดูแลทางสังคม ภายใต้สภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักร เผยแพร่รายงาน Coronavirus: Lessons learned to date ซึ่งตรวจสอบการรับมือโรคระบาดของรัฐบาลสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2563

โดยเน้นการประเมินผลลัพธ์ของมาตรการต่างๆ ผ่านการตรวจสอบรายงานกว่า 400 ฉบับ และสัมภาษณ์ตัวแทนหน่วยงานมากกว่า 50 คน เช่น Matt Hancock อดีตรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข,  Chris Whitty ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาล, Sir Patrick Vallance ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และ Sir Simon Stevens อดีตผู้อำนวยการระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service หรือ NHS)

รายงานนำเสนอข้อค้นพบ 6 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. ขาดการเตรียมพร้อมรับมือเชื้อไวรัสโคโรน่า
แม้สหราชอาณาจักรมีแผนการรับมือโรคระบาด ทังยังมีเครื่องมือประเมินเความเสี่ยง (National Risk Register) และกลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Scientific Advisory Group for Emergencies หรือ SAGE)

แต่แผนการนี้เน้นวิธีการตามแนวทางการรับมือโรคไข้หวัดระบาด โดยคาดเการณ์ว่าโรคอุบัติใหม่ไม่น่าจะเลวร้า่ยกว่าไข้หวัด และอาจมีผู้เสียชีวิตไม่เกิน 100 คนเท่านั้น นั่นเพราะสหราชอาณาจักรไม่มีประสบการณ์จัดการโรคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโคโรน่า เช่น โรคซาร์และเมอร์ส ซึ่งเคยระบาดในกลุ่มประเทศเอเชียมาก่อน

ในด้านการทำงานของ NHS แม้สามารถตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 ได้ดีระดับหนึ่ง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสุขภาพประเทศอื่น ถือได้ว่า NHS ทำงานภายใต้ระบบสุขภาพที่แน่นและเต็มศักยภาพ เพราะไม่เตรียมทรัพยากรเผื่อเหลือ สำหรับรับมือกับสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วและทันทีทันใด

2. สั่งล็อกดาวน์และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมล่าช้า
เมื่อต้นปี 2563 ในช่วงสามเดือนแรกของการเกิดโรคระบาดโควิด-19 รัฐบาลสหราชอาณาจักรเลือกที่จะไม่สั่งการล็อกดาวน์และใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทันที แต่ปล่อยให้ประชากรใช้ชีวิตตามปกติเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าโรคระบาดมีความรุ่นแรง รัฐบาลกลับเลือกใช้วิธีชะลออัตราการติดเชื้อ ผ่านแนวคิด Flattening the curve แบบค่อยเป็นค่อยไป แทนที่จะใช้มาตรการเข้มข้นในการหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 

มาตรการของสหราชอาณาจักรมาจากการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนรัฐบาล และกลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ SAGE ซึ่งไม่มีตัวแทนของผู้มีประสบการณ์รับมือโรคระบาดในภูมิภาคอื่นๆ จึงมองว่าโรคโควิด-19 ไม่รุนแรง ไม่ควรใช้มาตรการเข้มข้นหากไม่จำเป็น และปฏิเสธที่จะทำมาตรการล็อกดาวน์ตามแบบอย่างในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเคยผ่านการรับมือโรคซาร์ในช่วงปี 2545-2546 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหราชอาณาจักรจำเป็นต้องเลิกแนวคิดดังกล่าว และประกาศมาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกในปลายเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว แม้จะปลดล็อกดาวนในอีก 2 เดือนต่อมา แนวทางการจัดการโรคระบาดที่ออกมาใหม่มีความซับซ้อนและยากที่จะเข้าใจ

3. การตรวจเชื้อและติดตามผู้ติดเชื้อไม่ครอบคลุมประชากร
หน่วยสาธารณสุขอังกฤษ(Public Health England) ซึ่งตอนนี้ถูกแทนที่ด้วยสำนักงานความมั่นคงทางสุขภาพสหราชอาณาจักร (UK Health Security Agency) และ สำนักงานยกระดับสุขภาพและความพิการ (Office for Health Improvement and Disparities)

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในโลกที่พัฒนาเครื่องตัวเชื้อโควิด-19 ได้สำเร็จ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 แต่กลับมีระบบการตรวจเชื้อและติดตามโรคที่ไร้ประสิทธิภาพในระยะแรกของการระบาด เพราะไม่คำนึงถึงความเร่งด่วนในการตรวจเชื้อ

จึงไม่ทำมาตรการตรวจเชื้อในระดับชุมชน ทำให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการแพร่กระจายโรคอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากมาตรการในประเทศเอเชียตะวันออกที่เน้นตรวจหาเชื้อแนวราบ ตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรยังปล่อยให้ผู้สูงอายุเข้าโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพระดับชุมชน โดยไม่สนใจว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาในโรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงติดเชื้อ

จนกระทั่งเดือน เม.ย. 2563 ระบบการตรวจเชื้อและการติดตามผู้ติดเชื้อมีการพัฒนาขึ้น โดย NHS ริเริ่มระบบที่เรียกว่า “Test and Trace” จากการสั่งการของ Matt Hancock อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

4. เพิกเฉยความเสี่ยงของบุคลากรด่านหน้า
รัฐบาล, NHS และ SAGE ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงเริ่มแรกของการระบาด ในกรณีที่ไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงของบุคลากรด่านหน้า โดยเฉพาะอาสาสมัครและกลุ่มคนทำงานด้านสังคมที่เข้ามาช่วยดูแลผู้ติดเชื้อ 

จนกระทั่งกลุ่มคนเหล่านี้รวมตัวกันและตั้งคณะทำงานในเดือน พ.ค. 2563 แต่ถึงอย่างนั้น SAGE ก็ไม่ได้ดึงตัวแทนจากคนกลุ่มนี้เข้ามีส่วนร่วมในการวางมาตรการรับมือโรคโควิด-19 ทำให้คณะรัฐมนตรีขาดข้อมูลหน้างานที่เป็นประโยชน์ต่อการออกแบบมาตรการ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรด่านหน้า อุปกรณ์สวมใส่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ (Personal Protective Equipment หรือ PPE) และการตรวจเชื้อที่ครอบคลุมกลุ่มประชากร มาตรการของรัฐบาลที่ให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติในช่วงการระบาดระลอกแรก ทำใหบุคลากรด่านหน้าทำงานควบคุมโรคลำบาก และมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย 

5. ไม่ดูแลคนชายขอบอย่างทั่วถึง
ในช่วงเริ่มต้นของการระบาด คนที่มาจากกลุ่มชายขอบ เช่น ผู้มีรายได้น้อย แรงงานข้ามชาติ และประชากรที่มีผิวสี มีอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิดสูงกว่าคนผิวขาว

ส่วนหนึ่งเพราะกลุ่มประชากรดังกล่าวทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อาศัยในชุมชนแออัด มีปัญหาสุขภาพอื่นอยู่แต่เดิม อันเกิดจากสภาพเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในสหราชอาณาจักรที่มีอยู่แต่เดิม

นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ค่อนข้างสูง เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพของ NHS มีรายงานว่าบุคลากรที่ทำงานร่วมกับ NHS ที่เป็นคนผิวสีและมาจากกลุ่มประชากรชายขอบ ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สวมใส่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 

6. ความสำเร็จจากการฉีดวัคซีน
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการให้วัคซีนโควิด-19 กับประชากร ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ถือได้ว่าเป็นมาตรการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

สหราชอาณาจักรเป็นผู้พัฒนาวัคซีนเอง และวางระบบการฉีดที่มีประสิทธิภาพ สามารถฉีดวัคซีนครอบคลุม 80% ของประชากรในวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า 112,000 ราย และป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้มากกว่า 10 ล้านคน

นอกจากนี้ รายงานของสภาผู้แทนราษฎรแห่งราชอาณาจักรยังมีข้อเสนอ 38 ข้อถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การเชิญนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการรืในต่างประเทศเข้าร่วมกลุ่ม SAGE ทำฐานข้อมูลอาสาสมัครให้พร้อมต่อวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น

จัดสรรงบให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับโรคระบาดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ รวมทั้งจัดระบบการตรวจเชื้อให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 

อ้างอิง
https://committees.parliament.uk/work/657/coronavirus-lessons-learnt/news/157991/coronavirus-lessons-learned-to-date-report-published/
https://inews.co.uk/news/health/covid-19-lessons-learnt-report-the-five-tragic-mistakes-ministers-made-and-one-success-1242431