ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิการบดี สบช. เปิดแผนขยายโอกาสการศึกษา รองรับนักเรียนพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศเข้าเรียนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เตรียมเปิดอีก 13-14 คณะ ผลิตบุคลากรการแพทย์รองรับความต้องการของ สธ. และทุกหน่วยงาน


ศ.(พิเศษ) ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงโครงการ “สบช.สัญจร” ซึ่งจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา และการเข้าถึงสุขภาพที่ดีของประชาชนไปพร้อมกัน โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในระดับประเทศ ร่วมกันระหว่าง รมว.สาธารณสุข และ รมว.ศึกษาธิการ ไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564

นพ.วิชัย ระบุว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว ทาง สบช. จะดำเนินการในเชิงรุก โดยร่วมลงนามกับผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมทุกแห่งใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเปิดโควต้าในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของ สบช. ทั้งคณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ รวมถึงหลักสูตรอื่นๆ ผ่านระบบการรับตรง TCAS รอบที่ 1-4

สำหรับเป้าหมายปีการศึกษา 2565 จะเป็นการเปิดรับนักศึกษาจากประมาณ 800-900 โรงเรียน ภายใต้โควต้าในเบื้องต้นแห่งละ 4+1 คือพยาบาล 4 คน สาธารณสุขและสหเวชอีก 1 คน ภายใต้เกณฑ์การมีผลการศึกษาเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไปสำหรับพยาบาล และ 2.50 ขึ้นไปสำหรับสาธารณสุขและสหเวช โดยที่ไม่ต้องทำการสอบ

"เป้าหมายหลักของเราคือการให้โอกาสโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุนกันดาร หากเด็กอยากเรียนจะต้องมีโอกาสได้เรียน ทั้งยังจะเป็นเด็กคืนถิ่น ที่เมื่อจบไปแล้วจะสามารถกลับไปทำงานในพื้นที่ของตัวเองได้ หรือหากคะแนนดีเป็นบัณฑิตก้าวหน้าก็จะมีสิทธิได้รับการพัฒนาต่อ ศึกษาระดับปริญญาโท เอก เป็นนักวิจัย เป็นอาจารย์ต่อไป" นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวว่า จุดแข็งของ สบช. นอกจากหลักสูตรพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่ดำเนินการเรียนการสอนมามากกว่า 90 ปี มีวิทยาลัยพยาบาลกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงวิทยาลัยการสาธารณสุขและสหเวชศาสตร์รวมอีก 9 แห่ง ภายหลังได้ยกระดับฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย จากนี้ไปก็มีการขยายคณะอื่นๆ เพื่อผลิตบุคลากรด้านสุขภาพให้กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพิ่มเติมต่อไป

"ที่สุดแล้วเราจะเป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรครอบคลุมทุกสาขาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตอบสนองความต้องการของ สธ. ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน เวชกิจฉุกเฉิน รวมไปถึงหลักสูตรย่อยๆ พยาบาล 2 ปี ผดุงครรภ์ นักรังสีเทคนิค นักวัดสายตา พวกบริการพิเศษที่ต้องการบุคลากรเฉพาะ เราก็จะริเริ่มผลิตให้ ซึ่งเท่าที่วางแผนในอนาคตก็จะมีอีกประมาณ 13-14 คณะ" นพ.วิชัย กล่าว

ขณะเดียวกันยังจะมีการเรียนการสอนในหลักสูตรคู่ขนาน หรือ Dual Track เช่น สาธารณสุขศาสตร์กับนิติศาสตร์ สาธารณสุขกับเศรษฐศาสตร์ หรือสาธารณสุขกับสังคมศาสตร์ เป็นต้น เท่ากับเรียนจบเป็นปริญญาสองใบ รวมไปถึงหลักสูตรระยะสั้นอื่นๆ เช่น ผู้ช่วยพยาบาล 1 ปี ปวช. ปวส. เป็นต้น สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนระยะสั้น เพื่อจบออกไปมีงานทำหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้

นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่จะประจำตามชนบท ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1-2 คนต่อแห่ง เพื่อมุ่งเน้นงานบริการระดับปฐมภูมิ ที่ต่อไปจะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้เข้ารับบริการปฐมภูมิเป็นหลัก ลดความแออัดของโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลอำเภอ ที่จะทำให้คุณภาพบริการดีขึ้นตามไปด้วย

"เมื่อก่อนเราเป็นปริญญาสมทบกับที่อื่น เช่น สมทบกับ ม.เชียงใหม่ เรียนจบก็ไปรับปริญญา ม.เชียงใหม่ แต่ตอนนี้เราประสิทธิ์ประสาทปริญญาเอง และต่อไปก็จะมีหลักสูตรปริญญาโท เอก พร้อมกัยที่จะมีการผลิตบุคลากรเพิ่มขึ้นในทุกปี เพื่อรองรับความต้องการทั้งหมดของ สธ. รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ และภาคเอกชน รวมทั้งเป้าหมายที่ให้เด็กที่เกิดใหม่ได้เรียนหนังสือทุกคน" นพ.วิชัย กล่าว