ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นข่าวที่คนให้ความสนใจไม่น้อยในวงการสาธารณสุขของประเทศไทยเมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ทิ้งทวน โดยรับทราบร่างกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พ.ศ. ... ในวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา 

อธิบายให้เข้าใจง่าย คือ การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ เป็นส่วนราชการภายใน สบช. สังกัด สธ. บนเป้าหมายเพื่อผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพภาครัฐ ที่ในห้วงเวลาปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนอย่างหนัก 

หมายความว่า หากโครงการนี้เดินหน้าอย่างสมบูรณ์ ไทยจะมีแพทย์ดูแลประชาชนเพิ่มขึ้น และช่วยบรรเทาภาระงานล้นของแพทย์ในระบบ รวมถึงลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์จากการไหลออกจากระบบ

เมื่อกางหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สบช. ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2566 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ สบช. เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 พบจุดสำคัญ คือ จะมุ่งเน้นเปิดรับนักศึกษาแพทย์ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน จะรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) ตามหลักเกณฑ์การรับเดิมของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (Project to Increase Production of Rural Doctor: CPIRD) และ 2. กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ จะรับนักเรียนที่จบชั้น ม.6 ในพื้นที่ชายขอบ พื้นที่ขาดแคลน หรือนักเรียนที่มีภูมิลําเนาไม่อยู่ในเขตอําเภอเมือง

อีกทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว จะมีการกำหนดพื้นที่รับนักศึกษาใน 3 พื้นที่ โดยมีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ภายในโรงพยาบาลระดับจังหวัดรองรับ ประกอบด้วย 1. ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ รับนักเรียนจากจ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี และ จ.กําแพงเพชร 

2. ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช รับนักเรียนจาก จ.นครศรีธรรมราช จ.กระบี่ จ.ตรัง จ.พังงา และจ.ภูเก็ต และ 3. ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชบุรี รับนักเรียนจากจ.ราชบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์

ที่เป็นนักศึกษาแพทย์ 2 กลุ่มนี้ คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. เคยเปิดเผยเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ซึ่งระบุว่า ตั้งแต่ปี 2544-2564 แพทย์จากโครงการ CPIRD มีอัตราการคงอยู่มากถึง 80-90%

นอกจากนี้ ในหลักสูตรยังระบุด้วยว่า ศูนย์แพทยศาสตรคลินิก ยังรับกลุ่มสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ข้าราชการ หรือพนักงานราชการ ที่สำเร็จการศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อเข้าเรียน แต่ระยะแรกจะรับเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่จบชั้น ม.6 ใน 2 กลุ่มแรกก่อน 

ขณะที่การเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ ของ สบช. ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้ความร่วมมือจัดการสอนรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเลือกเสรี และหมวดวิชาเฉพาะ ในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษศาสตร์

รวมถึงในส่วนที่เข้าสู่คลาสชั้นปรีคลินิก ก็จะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม และที่คณะวิทยาศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ราชเทวี กรุงเทพมหานคร (กทม.)

พร้อมกันนี้ ยังได้ สธ. เข้ามาสนับสนุนเป็นสถาบันร่วมผลิตบัณฑิตแพทย์ โดยให้โรงพยาบาลหลักทั้ง 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลราชบุรี และโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ รวมถึงโรงพยาบาลชุมชน ที่สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้เข้ามาจัดการสอนรายวิชาในกลุ่มวิชาเฉพาะทางการแพทย์ วิชาการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก และกลุ่มวิชาเฉพาะที่ส่งเสริมสมรรถนะที่เป็นจุดเน้นของสถาบัน ในชั้นคลินิก 

สำหรับบัณฑิตแพทย์ที่จบออกมาจาก สบช. จะเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานได้ในระบบบริการสุขภาพของประเทศใน 'ทุกระดับ' โดยเฉพาะการทำหน้าที่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และเมื่อสิ้นสุดการใช้ทุนตามเกณฑ์ของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบท ก็ต่อยอดเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ ที่สนใจ หรือมีความเชี่ยวชาญ รวมถึงสามารถเป็นนักวิจัยทางการแพทย์ นักวิจัยในระบบสุขภาพ และเป็นนักบริหารทางการแพทย์ได้ด้วย 

นอกจากนี้ การพิจารณาเพื่อวางแผนหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์ สบช. ได้นำสถานการณ์แพทย์ในประเทศมาประกอบ โดยระบุว่า ประเทศไทยขาดแคลนแพทย์ในระบบบริการสุขภาพในทุกระดับอย่างหนัก ด้วยตัวเลขปัจจุบันที่มีแพทย์ปฏิบัติงานจริงอยู่ 19,259 คน จากกรอบอัตรากำลัง 25,744 คน และขาดไป 6,449 คน ซึ่งเป็นปัญหาที่กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

ก่อนจะได้ขึ้นรูปหลักสูตรจากคณาจารย์ด้านการแพทย์ ผ่านกระบวนการต่างๆ ภายในจนได้รับความเห็นชอบ ก่อนนำไปสู่การรับรองหลักสูตรโดยแพทยสภา เมื่อ 9 มี.ค. 2565 

ที่สำคัญเป็นการสนับสนุนมติ ครม. เมื่อ 5 เม.ย. 2565 ที่เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2570) ที่เน้นให้ชุมชนเป็นฐานการผลิตหมอ เพื่อเป้าหมายมีหมอ 1 คน ต่อประชากร 1,200 คนให้ได้ในปี 2576 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า 

อ่านหลักสูตรฉบับเต็ม : https://med.pi.ac.th/?p=2537