ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความสะดวกสบายของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือหลักการสำคัญของการให้บริการ ซึ่งจะต้องได้ไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่ผู้มีกำลังจ่ายได้รับนี่คือคำยืนยันจากปากของ รศ.นพ.พลากร สุรกุลประภา รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศและศูนย์กลางบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่บอกกับ “The Coverage”

นั่นคือหลักการตั้งต้นของการจัดตั้ง ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ หรือ Special Medical Center (SMC) โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขึ้นมา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘สาขา’ ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ก็ไม่ผิด

SMC ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จะรองรับการรักษาผู้ป่วยที่มีกำลังจ่าย ซึ่งจะช่วยเปิดช่องให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีพื้นที่และทรัพยากรสำหรับการดูแลผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเต็มศักยภาพ

ผู้ป่วยราว 30% ของผู้ป่วยทั้งหมดในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เข้ามาใช้บริการที่ SMC แห่งนี้ ทำให้อัตราผู้ป่วยของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ลดลง ส่งผลให้ได้รับบริการที่เร็วขึ้น

รศ.นพ.พลากร บอกว่า ทุกวันนี้มีอาจารย์แพทย์ออกตรวจในคลินิกเฉพาะทางไม่ต่ำกว่า 130 คน และคลินิกพิเศษอีกประมาณ 26 คน

มากไปกว่านั้น หลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย SMC ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้ทำงานเชิงรุกต่อด้วยการพัฒนาระบบโทรเวชกรรม หรือ “Telemedicine” หรือที่คุ้นชินกันในชื่อ ‘การแพทย์ออนไลน์’ ซึ่งตอบโจทย์ความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย

บรรทัดต่อจากนี้ คือรายละเอียดการดำเนินงาน

2

อัดแน่นด้วยการแพทย์ระดับอาจารย์

รศ.นพ.พลากร เริ่มต้นบทสนทนากับ “The Coverage” ด้วยการอธิบายให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของ SMC ซึ่งเดิมเคยเป็น ‘คลินิกนอกเวลา’ มาก่อน โดยเปิดให้บริการเมื่อปี 2550 สำหรับผู้ที่มีกำลังจ่าย หรือมีประกันสุขภาพ-ประกันชีวิต ที่ไม่สะดวกมาโรงพยาบาลในเวลาราชการ

กระทั่งราวปี 2562 ‘คลินิกนอกเวลา’ นั้นได้รับการยกระดับขึ้นมาอีกขั้น ถูกพัฒนามาเป็น SMC ที่เปิดให้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการ ให้ความสะดวกเหมือนโรงพยาบาลเอกชน

สำหรับบริการของ SMC นั้น มีทั้งคลินิกพิเศษที่โดยส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยอายุรกรรมเป็นหลัก เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ และยังมีคลินิกเฉพาะทางไม่ว่าจะเป็นด้านกระดูก ศัลยกรรมตกแต่ง สูตินรีเวช ผ่าตัดโดยการส่องกล้อง เวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์เลสิค ฯลฯ เอาไว้รองรับผู้ป่วยนอก ขณะเดียวกันก็มีหอผู้ป่วยในเฉพาะสำหรับผู้ป่วย SMC

ครึ่งหนึ่งของอาจารย์ในคณะแพทย์ฯ ออกตรวจที่นี้ เรียกได้ว่ามีทุกด้าน สามารถให้บริการได้ทุกด้าน นอกจากจะมีคลินิกตรวจสุขภาพทั่วไปแล้ว ยังมีคลินิกพิเศษที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่น คลินิกโรคอ้วน คลินิกโรคตับ โรคไต คลินิกมะเร็งวิทยา คลินิกสุขภาพบุคคลข้ามเพศ ตอนนี้กำลังวางแผนว่าอาจจะมีคลินิกสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะมีหลายโรค และต้องรับการดูแลหลายด้าน ทั้งกายภาพบำบัด ฝึกเดินไม่ให้ล้ม ถ้ามีคลินิกเฉพาะจะได้มากทีเดียว

ปัจจุบันมีแพทย์ที่ออกตรวจในคลินิกเฉพาะทางประมาณ 130 คน และคลินิกพิเศษประมาณ 26 คน โดย รศ.นพ.พลากร ได้ให้ความมั่นใจว่า แม้อาจารย์แพทย์จะไม่ได้ออกตรวจในวันนั้น ก็ยังมีบริการของโรงพยาบาลศรีนครินทร์รองรับในกรณีที่ผู้ป่วยมีความรีบด่วนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี จากการมอนิเตอร์และวิเคราะห์ข้อมูลนับตั้งแต่มีการจัดตั้ง SMC พบว่ามีอัตราการเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวทุกปี รวมไปถึงยังพบอีกว่า ผู้ป่วยราว 30% ของผู้ป่วยทั้งหมดในโรงพยาบาลศรีนครินทร์เข้ามาใช้บริการที่ SMC แห่งนี้ ทำให้อัตราผู้ป่วยของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ลดลง ส่งผลให้การบริการในฝั่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์รวดเร็วขึ้น

รศ.นพ.พลากร ระบุถึงค่าเฉลี่ยเวลาในการรอรับบริการนับตั้งแต่รอตรวจไปจนถึงกลับบ้านว่า จากเดิมผู้ป่วยที่เดินทางมายังโรงพยาบาลศรีนครินทร์ต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลราว 6-7 ชั่วโมง แต่เมื่อผู้ป่วยบางส่วนเข้ามาอยู่ที่ SMC เพิ่มมากขึ้นทำให้ค่าเฉลี่ยในการรอรับบริการของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ลดลงอยู่ที่ราว 2-4 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยที่เข้ามารักษาใน SMC จะมีเวลารอคอยเฉลี่ย 1-2 ชั่วโมง

“ใครที่มีกำลังจ่ายเขาก็จะมารับบริการที่ศูนย์บริการฯ แต่ใครที่ใช้สิทธิปกติก็รับบริการที่โรงพยาบาลฯ ซึ่งก็จะได้รับบริการที่ใกล้เคียงกัน ช้ากว่ากันไม่ได้มาก”

2

บ่มเพาะความคิด 3 ปี พัฒนา Telemedicine

รศ.นพ.พลากร อธิบายว่า ในช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเห็นได้ว่ามีผู้พัฒนาหลายคนเริ่มทำแอปพลิเคชันเกี่ยวกับ Telemedicine รวมไปถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขณะเดียวกันที่ SMC เองก็ต้องการความรวดเร็ว เพราะหากจะรอระบบของภาครัฐจะค่อนข้างช้า นั่นเลยทำให้เริ่มนึกถึงการร่วมมือกับทางเอกชน นั่นก็คือ ไดเอทซ์ (Dietz.Asia) เข้ามาร่วมกันช่วยพัฒนาระบบดังกล่าว

ทว่า SMC นั้นอยู่ภายใต้ระเบียบการเงินการคลังของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาล ฉะนั้นก่อนจะดำเนินการต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าจะผิดระเบียบหรือไม่ ซึ่งก็ใช้เวลาพูดคุยอยู่ราว 2-3 ปี จนเกิดเป็นระบบ Telemedicine ของ SMC ขึ้นมา

แม้ว่าจะเป็นการปรับไปใช้ไป แต่ในที่สุดแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา แอปพลิเคชัน ตัวนี้ก็ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มระบบ ครอบคลุมทั้งการตรวจรักษาไปจนถึงการรับยาที่มีทั้งรอรับที่บ้าน และแบบ Drive Thru

การใช้งานในปัจจุบันส่วนตัวมองว่าเป็นแอปพลิเคชันที่ค่อนข้างดี แต่ทุกคนต้องมีระบบอินเทอร์เน็ตของตัวเองก่อน เพราะคนไข้ต้องเข้าระบบผ่านไลน์ออฟฟิเชียลของศูนย์ฯ ก่อนถึงจะสามารถเข้าสู่ระบบได้

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบได้สำเร็จก็จะสามารถเลือกพบแพทย์ได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบอยู่ว่า ในวันที่ผู้ป่วยแจ้งขอพบแพทย์นั้นแพทย์ที่ผู้ป่วยแจ้งไว้จะออกตรวจหรือไม่ เพราะด้วยความที่เป็นโรงเรียนแพทย์ อาจารย์แพทย์บางครั้งก็จะติดงานสอน หรือติดเดินทางไปเป็นวิทยากรที่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ รวมไปถึงติดงานบริการบางอย่างที่เร่งด่วน เช่น มีเคสผู้ป่วยฉุกเฉิน

4

เพิ่มความ ส่วนตัวให้ผู้ป่วยมากขึ้น

นอกจากแนวทางการให้บริการที่ทันยุคสมัยแล้ว “รศ.นพ.พลากร” ยังอธิบายต่อว่า Telemedicine ยังมีส่วนช่วยลดผู้ป่วยในโรงพยาบาลของกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจ เช่น ผู้ป่วยที่มาติดตามอาการและรับยากลับบ้าน ส่วนนี้เมื่อลดจำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ ก็จะทำให้แพทย์มีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยได้มากขึ้น เพราะจำนวนคนไข้น้อยลง และผู้ป่วยก็จะไม่รู้สึกแออัด

อย่างไรก็ดี จากการสังเกตในขณะนี้พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ามารับบริการมากขึ้น และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ  เพราะผู้ป่วยรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และมีเวลาพูดคุยกับแพทย์ได้นานขึ้น โดยที่ SMC จะมีจิตแพทย์ประจำที่คอยให้บริการตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ รวมไปถึงมีการจ้างอาจารย์แพทย์ที่เกษียณอายุราชการเข้ามาช่วยอีก 2 คน และยังมีอาจารย์แพทย์ในภาควิชาจิตเวชเข้ามาหมุนเวียนอีกราว 2 คน เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

รศ.นพ.พลากร อธิบายอีกว่า ที่ SMC นอกจากจะมีผู้ป่วยภายในพื้นที่แล้ว ก็ยังมีผู้ป่วยที่จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศลาวเข้ามาใช้บริการด้วย จุดนี้เองก็จะมีการพยายามประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยได้รับทราบถึงบริการ Telemedicine ทำให้ครั้งต่อไปหากจะพบแพทย์ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล

ทั้งนี้ การจะประชาสัมพันธ์ให้คนเข้ามาใช้บริการ Telemedicine นั้นสิ่งสำคัญคือแอปฯ จะต้องดีก่อน เพราะถ้าหากแอปฯ ไม่ดีก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ และเมื่อมีแอปฯ ที่ดีแล้วผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ก็จะเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทาง เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

เพิ่มพื้นที่ให้บริการ Telemedicine – รองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน

รศ.นพ.พลากร บอกต่อไปว่า สิ่งที่อยากจะต่อยอดออกไปนั่นคือการขยายพื้นที่บริการเพื่อรองรับ Telemedicine เนื่องจากขณะนี้จำนวนห้องตรวจมีจำกัด อาจารย์แพทย์หลายคนต้องเล่นเก้าอี้ดนตรี ต้องสลับกันตรวจ

ฉะนั้น ถ้าจะเน้นเรื่องการลดผู้ป่วยด้วยการใช้ Telemedicine ก็อยากจะทำห้องตรวจให้สามารถรองรับแพทย์หลายๆ คนเข้ามาใช้บริการภายในเวลาเดียวกันได้

นอกจากนี้ ก็อยากจะขยายบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายก็อาจมีภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งในปัจจุบัน SMC ยังไม่มีบริการส่วนนี้ ทำให้เมื่อไหร่ที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินก็ต้องส่งไปยังโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ส่วนตัวแล้วก็อยากจะให้มีบริการเพิ่มขึ้น