ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด 19 มาได้ หลากหลายโรงพยาบาลได้สรุปบทเรียน และหยิบคว้า ‘ระบบการรักษา’ ที่มีประสิทธิภาพในช่วงวิกฤต มาต่อยอดเพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์ปกติต่อไป

จากข้อจำกัดเรื่อง ‘การเว้นระยะห่าง’ นำไปสู่การพัฒนาระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) หรือการแพทย์ทางไกล ที่สุดแล้วทุกวันนี้ ‘ระยะห่าง-ระยะทาง’ ไม่ใช่อุปสรรคต่อการจัดบริการแต่อย่างใด

การแพทย์ทางไกล อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ ผู้ป่วยสามารถรับการดูแลรักษา ตลอดจนติดตามอาการเจ็บป่วยของตนเองได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผ่านการโทรศัพท์และเปิดกล้องคุยกับแพทย์ โดยไม่จำเป็นต้องไปที่โรงพยาบาลเสมอไปเหมือนก่อน

ประโยชน์ของการให้บริการรูปแบบนี้ยังเป็นทางออกที่ช่วย ‘ลดความแออัด’ ของโรงพยาบาล และ ‘ลดการรอคิว’ ของผู้ป่วย อันเป็นปัญหาสำคัญที่ติดฝังเรื้อรังมานานในการทำให้ผู้คนได้รับการรักษาที่ล่าช้าด้วย

ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ (Special Medical Center: SMC) ภายใต้การบริหารจัดการของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) คือหนึ่งในสถานพยาบาลที่เห็นถึงประโยชน์ดังกล่าว จึงได้ยกระดับระบบเทเลเมดิซีนของตนเอง และตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็น โรงพยาบาลออนไลน์ที่มีความชัดเจนเป็นระบบมากขึ้นในการให้บริการ

“The Coverage” เลือกที่จะพูดคุยกับ รุจิราพร ศรีโย พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้าหน่วยลูกค้าสัมพันธ์และประกันชีวิต ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ มข.

นั่นเพราะระบบในอดีตค่อนข้างใช้ทรัพยากรมากในการให้บริการผู้ป่วยหนึ่งคน เพราะต้องใช้การดำเนินการผ่าน ‘คน’ เป็นหลัก ซึ่งผู้ที่รับหน้าที่นั้นก็คือ ‘พยาบาล’ ด่านหน้าในการดูแลรักษาประชาชน

เปลืองกำลังคนสำหรับจัดการข้อมูล

“ก่อนหน้านี้การนำข้อมูลเข้าระบบออนไลน์อย่างการยืนยันตัวตน หรือส่งต่อเพื่อพบแพทย์ เราต้องทำทุกขั้นตอนเหมือนในสถานการณ์ปกติแทนคนไข้ทั้งหมด เช่น การรอคิวเข้าพบแพทย์ รับยา จ่ายเงิน ทำให้ต้องเสียอัตรากำลังไปกับส่วนนี้คนหนึ่งเลย” รุจิราพร บอกกับ “The Coverage” ถึงอุปสรรคในการใช้เทเลเมดิซีนช่วงโควิด-19

รุจิราพร กล่าวต่อไปว่า ในช่วงโควิดจะเป็นการให้บริการผ่านไลน์แอปพลิเคชันเป็นหลัก ซึ่งการวิดีโอคอลเพื่อพบแพทย์ผ่านไลน์ก็สามารถทำได้ที่ละคน ส่วนการยืนยันตัวตนก็ใช้การสร้างแบบฟอร์มและทะเบียนผู้ป่วยผ่านกูเกิลฟอร์มให้ผู้ป่วยกรอกข้อมูล หรือถ่ายรูปบัตรประชาชนและใบนัดส่งผ่านไลน์ และทางพยาบาลก็จะทำหน้าที่นำข้อมูลนั้นมาตรวจสอบในระบบของโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ในส่วนขั้นตอนการออกใบเสร็จชำระค่าการรักษา จะต้องถ่ายรูปรายละเอียดจากฝ่ายการเงิน ส่งให้ผู้ป่วย จากนั้นเมื่อรับชำระเรียบร้อยมีหลักฐานชัดเจน จะต้องนำมาทำเป็นไฟล์เพื่อรวบรวมและเดินไปส่งคืนที่ฝ่ายการเงิน ซึ่งต้องไปทำการตรวจสอบหลักฐานการชำระนั้นกับผู้ที่ทำบัญชีของโรงพยาบาลอีกทอดหนึ่ง จึงจะสามารถสั่งจ่ายยาได้

มากไปกว่านั้น ด้วยการเน้นไปที่การรักษาเฉพาะทาง จึงไม่มีแพทย์ทั่วไปคอยออกตรวจเหมือนในโรงพยาบาล ดังนั้นถ้ามีการเบิกจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาต่อเนื่อง จะต้องทำให้ตรงตามการสั่งจ่ายเดิม

ตัวอย่างเช่น ยาเดิมที่ผู้ป่วยใช้เป็นยาเกี่ยวกับกระดูก พยาบาลก็ต้องส่งข้อมูลให้แพทย์ด้านกระดูกเป็นผู้สั่งจ่าย และนำไปส่งทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วย หรือให้ผู้ป่วยขับรถมารับที่โรงพยาบาล (Drive Thru) ซึ่งแพทย์เฉพาะทางจะไม่ได้เข้ามาที่คลินิกทุกวัน ทำให้ตรงนี้เป็นความซับซ้อนที่เกิดขึ้น

1

เปลี่ยนระบบใหม่ ทำงานง่าย ไร้อุปสรรค

เพื่อลดทอนอุปสรรคการให้บริการ พวกเขาจึงเลือกที่จะยกระดับ ‘ระบบการจัดการข้อมูล’ โดยใช้ช่องทางในการจัดการข้อมูลที่มีความเป็นทางการที่ถูกต้องตามหลักของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลโดยใช้ระบบบริการแพทย์ทางไกล พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ของ ไดเอทซ์ (Dietz.asia) มาใช้ ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ จำกัด (Roche)

การพัฒนาระบบเทเลเมดิซีนร่วมกัน จะยิ่งช่วยให้สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของ SMC อีกด้วย

เธอบอกว่า  ระบบใหม่ที่นำมาใช้ช่วยลดจำนวนคนในการทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้มากทีเดียว เพราะสามารถปรับมาทำด้วยคนเดียวได้ ทำให้ข้อมูลการยืนยันตัวตนของผู้ป่วยถูกเชื่อมมาสู่ระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลได้เลย 

เจ้าหน้าที่ในคลินิกทั้งหมดก็สามารถอัปเดตและเห็นความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลได้เลย ส่วนการพบแพทย์ก็ใช้ผ่านโปรแกรมของไดเอทซ์ ซึ่งมีรูปแบบการใช้งานคล้ายกับโปรแกรมซูม (Zoom meeting) ทำให้สามารถคุยได้พร้อมกันหลายเคส โดยจะมีเพิ่มปุ่มไว้ในรายการหนึ่งที่ช่องแชทของไลน์ที่ใช้คุยกับผู้ป่วย

“ช่องทางที่คนไข้จะเข้ารับการดูแลรักษาเป็นช่องทางเดิม แต่ระบบหลังบ้านเรามีการเปลี่ยนแปลง และมีการเชื่อมต่อข้อมูลด้วยระบบ API กดคลิกเดียวข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น หมอสั่งยาอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายในการรักษาเท่าไหร่ก็จะส่งตรงไปที่คนไข้เลย ทำให้โดยเฉพาะความผิดพลาด และความซับซ้อนก็จะน้อยลง” รุจิราพร ระบุ

เธออธิบายต่อไปว่า โดยบริการในปัจจุบันผ่านระบบออนไลน์นี้ มีทั้งบริการทั่วไป และสำหรับโรคที่ซับซ้อน หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ป่วยที่เคยมารับบริการแล้วเท่านั้น แต่สำหรับคลินิกสุขภาพจิตออนไลน์ จะรองรับผู้ป่วยรายใหม่จากทั่วประเทศ โดยสามารถทำประวัติ ตรวจคัดกรอง ปรึกษาแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ได้เลยด้วยปลายนิ้ว

ลดการรอคอย เบิกได้ทุกสิทธิหลักประกัน

รุจิราพร บอกอีกว่า เหล่านี้ยังทำให้เวลารอคอยในการรับบริการให้ประชาชนลดลงไปอย่างมาก รวมถึงระหว่างนั้นสามารถทำอย่างอื่นควบคู่ไปได้ด้วย เพราะเดิมจากสถิติที่เคยทำการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า เวลารอคอยน้อยที่สุด คือราว 40 นาที และมากที่สุดอยู่ที่ 3 ชั่วโมง โดยนับตั้งแต่ก้าวแรกที่ผู้ป่วยสัมผัสกับพื้นของโรงพยาบาล

บริการออนไลน์เหล่านี้ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาเหมือนกับการรับบริการในโรงพยาบาลเลย ไม่ว่าจะเป็นข้าราขการ บัตรทอง หรือประกันสังคม สามารถทำการเบิกจ่ายได้ทั้งหมด รวมถึงลดค่าใช้จ่ายแฝงจากการเดินทางมารับบริการด้วยหัวหน้าหน่วยลูกค้าสัมพันธ์และประกันชีวิต กล่าว