ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรพ. จับมือ ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (HACC) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมวิชาการ HA NORTHERN REGIONAL FORUM 2023 สานต่อแนวคิด Synergy for Safety and Well-being รวมพลังเครือข่ายสถานพยาบาลภาคเหนือสร้างความปลอดภัยและสุขภาวะที่ดี 


สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ร่วมกับ ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (HACC) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการประชุมวิชาการ HA NORTHERN REGIONAL FORUM 2023 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Synergy for Safety and Well-being" ผนึกกำลังเพื่อความปลอดภัยและสุขภาวะ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 6-7 ก.ค. 2566 โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน

2

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากงาน HA National Forum ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุผลที่ต้องเป็น Synergy for Safety and well-being เนื่องจากการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย สรพ. ไม่สามารถกระจายองค์ความรู้ได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ถ้าไม่มี HACC ซึ่ง HACC คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เป็นกลไกสำคัญในการ Synergy ให้พื้นที่ภาคเหนือก้าวไปด้วยกัน

พญ.ปิยวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในอดีต สรพ. ทำเรื่องการรับรองสถานพยาบาล แต่พบว่าการพัฒนาเฉพาะสถานพยาบาลไม่สามารถเกิดคุณภาพและความปลอดภัยได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่จะก้าวต่อไปข้างหน้านั้น คือการเชื่อมต่อไปสู่ Healthcare System และไปถึงระบบสุขภาวะโดยรวม โดยใช้กระบวนการรับรองคุณภาพ เป็นกลไกในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการรับรองคุณภาพในอนาคตที่จะต้องแตะไปถึงเรื่อง การดูแล ตั้งแต่คนไข้อยู่ที่บ้านมาจนถึงโรงพยาบาล ต้องวางกระบวนการดูแลต่อเนื่องซึ่งไม่สามารถทำโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้

เช่นเดียวกับการขยับจาก 2P Safety เป็น 3P Safety และต่อเนื่องไปถึง Well-Being ทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย หรือการขับเคลื่อนให้สถานพยาบาลมีคุณภาพในระดับสากล คำว่าระดับสากล หมายถึงการนำหลักการสากลมาใช้ในการพัฒนาสถานพยาบาล ซึ่งหลักการจะมี 3 ข้อ คือ 1. Patient and Personnel Safety ผู้ป่วยและบุคลากรปลอดภัย 2. Continuous Quality Improvement การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และ 3. People Centred-care เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางของการออกแบบบริการต่างๆ ทั้งหมดนี้ทำคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำงานร่วมกัน เสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน และเมื่อทำด้วยกันแล้วต้องได้ผลลัพธ์ที่ 1+1 ที่มากกว่า 2

2

พญ.ปิยวรรณ กล่าวอีกว่า องค์ประกอบของ Synergy นั้น ทุกฝ่ายต้องมีความสนใจหรือเป้าหมายร่วมกัน นอกจากนี้ยังต้องมีค่านิยมร่วมกัน มีความสามารถที่เสริมกัน มีผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการที่เสริมกัน และถ้า Synergy กันแล้ว จะเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าทำคนเดียว

“สุดท้ายแล้ว Health is a whole เราสามารถทำให้เรื่องคุณภาพเป็นตัวขับเคลื่อนสุขภาพ และให้เรื่องสุขภาพเป็นหนึ่งในหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ อย่างเช่นสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ก็เห็นได้ว่าเมื่อขับเคลื่อนให้เกิดสุขภาพดี จะนำมาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม”พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ด้าน ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญในการดำรงคุณภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเพื่อไปสู่การเป็น High Performance Organization และ HACC คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความตั้งใจและอยากให้งานนี้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ กล่าวคือมีการสร้างเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยด้วยมาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล ตลอดจนการผนึกกำลังเครือข่ายที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ในอนาคต และผู้เข้าร่วมประชุมจะได้นำความรู้ในงานนี้ไปปฏิบัติเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยดีขึ้น

3

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น มีพันธกิจหลักทั้งด้านการศึกษา การวิจัยและการบริการ โดยมีค่านิยมคือเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ เพื่อการยกระดับสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ MED CMU ซึ่งจะขอยกตัวอย่างการ Synergy ในแง่การบริหาร ซึ่งจะผสานพันธกิจทั้งหมดเข้าด้วยกัน เช่น ด้านการศึกษา มีการพัฒนาหลักสูตรที่ได้ทั้งแพทย์และ Data Science การพัฒนาอาจารย์ที่มีการเรียนรู้ด้าน HA ด้านคุณภาพ เพื่อต่อยอดให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้านการวิจัย ปัจจุบันมีนวัตกรรมด้าน Process เกิดขึ้นมากมาย มีศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ และมีการจัดตั้งสวนดอก Innovation Distract เป็น 1 ใน 2 ของประเทศ และมีการผลิตผลงานออกมามากมาย มี Hackathon ในการพัฒนานวัตกรรม มีการตั้งเป้างานวิจัยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการหรือพัฒนางานด้านบริการในพื้นที่ หรือในด้านบริการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ไม่ได้แยกจากคณะแพทยศาสตร์ แต่มีการตั้งกลยุทธ์ที่สอดคล้องไปกับกลยุทธ์ MED CMU เพื่อไปสู่การเป็น High Performance Organization และได้รับการรับรองระบบหรือรายโรค (PDSC) 10 กว่ารายการ มีการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้ทันสมัยเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพตลอดจนด้านจิตใจต่อทั้งบุคลากรและผู้ป่วย มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น ระบบ Personal Health record ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบจัดยาอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ ระบบส่งยาทางไปรษณีย์พร้อมระบบติดตาม ฯลฯ นอกจากนี้ยังเกิดการสร้างเครือข่ายในภาคเหนือมากมาย

“การที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดินมาถึงวันนี้ เกิดจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ จนเกิดวัฒนธรรมด้านคุณภาพขึ้นในองค์กร ส่วนทิศทางในอนาคต เราจะเดินด้วยระบบคุณภาพต่อเนื่องและก้าวไปสู่การรับรอง HA IT และ SHA เพื่อเป็นต้นแบบของงานคุณภาพในภาคเหนือ และพร้อมไปกับการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง” ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ กล่าว