ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'ศ.นพ.สมศักดิ์' สะท้อนความเห็นรัฐบาลจัดบริการสุขภาพดีแล้ว ช่วยคนไทยเข้าถึงบริการมากขึ้น เผยมีแพทย์จบใหม่ 6 หมื่นคนยังรอตำแหน่ง-รองาน แถมอีก 10 ปีจะมีเพิ่มอีก 3 หมื่นคน แนะรัฐใช้โอกาสนี้ขยายโครงสร้าง กระจายหมอไปชุมชนยกระดับการรักษา ชงรัฐบาลตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทางวิชาการระดับภูมิภาค ช่วยหมอดูแลผู้ป่วย ช่วยประชาชนดูแลตัวเอง


.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อาจารย์สาขาอายุรศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดการได้ดีและมีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพมาโดยตลอด โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ และการสนับสนุนให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ได้เข้าถึงบริการที่สะดวกมากขึ้น เช่น สิทธิการเปลี่ยนหน่วยพยาบาลของสิทธิบัตรทอง การเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ รวมถึงนโยบายมะเร็งรักษาได้ทุกที่ และการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine

อย่างไรก็ตาม ระบบบริการสุขภาพที่พัฒนาไปยังคงมีอุปสรรคหรือปัญหา รวมถึงข้อจำกัดที่ต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น อย่างนโยบายมะเร็งรักษาได้ทุกที่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเลือกเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือในโรงเรียนแพทย์เพื่อเข้ามารับการรักษา ซึ่งเป็นการเพิ่มความแออัดในโรงพยาบาล รวมถึงทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษา

ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีการพัฒนาโรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษา การดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้มีมาตรฐานเดียวกัน และเกิดการกระจายไปยังทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลจังหวัด ก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าการไปรักษาได้ทุกที่ และยังเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการดูแลผู้ป่วยด้วย

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยังมีประเด็นแพทย์จบใหม่ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 6 หมื่นคนที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ และรอการทำงาน อีกทั้งในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีเพิ่มอีก 3 หมื่นคน หรือเกือบ 50% ในอัตราปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาล หรือผู้กำหนดนโยบายที่จะใช้โอกาสนี้ในการกระจายบุคลากรแพทย์ไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอ เพื่อยกระดับการให้บริการสุขภาพที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะการกระจายแพทย์เฉพาะทางแต่ละด้าน ทั้งแพทย์โรคหัวใจ อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ เป็นต้น เพราะจะเป็นการกระจายบุคลากรไปตามพื้นที่ต่างๆ ที่ครอบคลุมการรักษา ดูแลสุขภาพของประชาชน ก็จะช่วยลดความแออัด และภาระงานในโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่าได้

"แต่ปัญหาคือโครงสร้าง ที่แม้ว่าเราจะผลิตแพทย์ได้ปีละ 2,000-3,000 คน รวมถึงบุคลากรสายสาธารณสุขในด้านต่างๆ เช่นกัน ทั้ง ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล แต่เรายังพบปัญหาว่าแพทย์ไม่มีงานทำ หรือไม่ได้รับการบรรจุเพราะไม่มีตำแหน่ง เพราะรัฐบาลมีกรอบอัตรากำลังคนที่จำกัด และไม่มีการขยายกรอบอัตราออกไป ทั้งที่สถานการณ์ภาระงานในโรงพยาบาลก็มากอยู่แล้ว และในเมื่อเราผลิตแพทย์ได้มาก ก็น่าจะเป็นอีกโอกาสที่รัฐบาลจะได้มองเห็น และใช้บุคลากรอย่างถูกต้องเพื่อยกระดับบริการสุขภาพ" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ภาพใหญ่ของระบบบริการสุขภาพ ถือว่ารัฐบาลได้เดินหน้าพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้น และคุณภาพส่วนใหญ่ก็ได้มาตรฐานที่ดี แต่ยังมีระบบที่ต้องพัฒนาต่อไป เช่น ระบบการส่งต่อผู้ป่วยอาการหนัก ที่โรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถรักษาได้ ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ ตรงนี้ยังมีช่องว่างของการติดต่อประสานระหว่างหน่วยบริการ ที่ข้อมูลอาจยังไม่เชื่อมกันดีมากนัก ซึ่งหากมีการพัฒนาระบบส่งต่อระหว่างหน่วยบริการให้ดีมากขึ้น ก็จะมีส่วนสำคัญในการทำให้คนไข้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

"รัฐบาลอาจพิจารณาให้มีศูนย์บริการให้คำปรึกษาทางวิชาการสำหรับโรคที่พบบ่อย เช่น โรคหัวใจ พิษวิทยา เป็นต้น กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อคอยให้คำปรึกษากับหน่วยบริการในการดูแลผู้ป่วย การใช้สิทธิในการรักษา และโรคต่างๆ ที่สำคัญเพื่อให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญ สามารถให้คำปรึกษาจากศูนย์ดังกล่าวไปยังหน่วยบริการได้ ในอีกด้าน ก็ยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับประชาชนที่มีข้อสงสัยถึงอาการเจ็บป่วยต่างๆ เหมือนกับเป็นการคัดกรองเบื้องต้นให้กับผู้ป่วย ก็จะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการรักษา หรือดูแลตนเอง ขณะเดียวกันก็ยังลดความแออัด และภาระงานของแพทย์ในโรงพยาบาลด้วย" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว