ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าโลกตะวันตกจะเริ่มกลับไปใช้ชีวิตกันตามปกติแล้ว แต่เหล่าบรรดาประเทศรายได้ต่ำและปานกลางในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลกยังคงต้องต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หนำซ้ำเริ่มอ่อนแรงลงไปทุกที ทั้งระบบสาธารณสุข สภาพสังคม และเศรษฐกิจ

แต่ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ได้วิจัยและพัฒนาเครื่องมือสำคัญที่จะมีบทบาทในการต่อสู้กับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือการค้นพบวิธีในการนำ “โปรตีนในเซล” ของมนุษย์มาใช้ “วิเคราะห์” และ “พยากรณ์” ถึงความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยโควิด-19 จะมีอาการเจ็บป่วยหรือมีอันตรายอะไรเกิดขึ้นบ้าง

การค้นพบดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร EMBO Molecular Medicine เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2021

ราจัน โกกนา หนึ่ในทีมวิจัยได้เผยว่า เซลในร่างกายของเรามีส่วนหนึ่งที่เรียกว่า Fitness Status และด้วยการนำส่วนนี้มาวิเคราะห์ เราจะสามารถพยากรณ์อาการเจ็บป่วยหรือแม้กระทั่งการตายในบรรดาเหล่าผู้ป่วยโควิด-19 ได้ โดยความเป็นไปได้ตอนนี้คือการนำมันไปใช้ร่วมกับเครื่องตรวจวัดเดิมที่ใช้กันอยู่ เช่น การนำไปใช้ร่วมกับการตรวจโควิด-19 ทางจมูก ซึ่งจะสามารถพยากรณ์ได้ตั้งแต่ตอนนั้น

โดย Fitness Status ของเซลนั้น ถ้ามันอยู่ในภาวะด้อยประสิทธิภาพ มันก็จะเป็นการบอกว่าตัวเซลเองนั้นไม่แข็งแรงดี ซึ่งโดยปกติแล้ว เซลที่ไม่แข็งแรงดีก็มาได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่วัย ระบบเผาผลาญเสื่อมหรือมีปัญหา และที่สำคัญคืออาจจะมาจากสาเหตุของการเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งการติดเชื้อโควิด-19 ก็แสดงออกผ่าน Fitness Status เช่นเดียวกัน

ช่วงต้นปี 2021 ทีมวิจัยได้ค้นพบว่า Fitness Status ได้ไปโผล่อยู่ในโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Flower Protein” โดย Flower Protein เกาะอยู่บนผิวของเซล และพวกมันก็แสดงตัวให้เห็นอยู่ในสองรูปแบบ

“รูปแบบแรก ถ้าเซลนั้นทำงานและมีสุขภาพที่ดี Flower Protein จะล้อมรอบเซลอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเซลทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพและสุขภาพไม่ดี เซลจะถูก Flower Protein ที่ล้อมรอบอยู่ผลักออกไปและถูกฆ่าโดยเซลอื่นรอบๆ “ โกกนาอธิบาย

ซึ่งเจ้า Flower Protein นี่แหละคือสิ่งที่จะถูกนำไปใช้ในการพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำถึงอาการเจ็บป่วยหรือการตายจากโควิด-19 ได้ ว่าใครเสี่ยงอาการระดับมากน้อยเพียงใดอย่างไร

“การดู Fitness Status ที่อยู่ใน Flower Protein จะทำให้รู้ได้ว่าใครจะมีอาการอย่างไร ต้องรักษาอย่างไร เสี่ยงมากน้อยเพียงไหนได้แม่นยำถึง 78.7% และในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้มีอาการรุนแรง ความแม่นยำในการพยากรณ์อาการนั้นสูงถึง 93.9%” คยัง แจ วอน อีกหนึ่งในทีมวิจัยอธิบาย

ในการวิเคราะห์ข้อมูล นักวิจัยได้ทำการใช้เนื้อเยื่อปอดของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพื่อมาดูบทบาททางชีววิทยาของ  Flower Protein ในอาการปอดเสียหายเฉียบพลันอันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโควิด-19

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังใช้ตัวอย่างจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทางจมูก (Nasal Swap) เพื่อนำมาประเมิณว่าสิ่งที่อยู่ใน Flower Protein นั้นมีความแม่นยำมากน้อยเพียงใดเมื่อทำการวิเคราะห์ควบคู่กับการตรวจหาเชื้อ

“โกกนา” ยังกล่าวอีกว่า Fitness Status ของเซลที่แสดงออกผ่าน Flower Protein สามารถช่วยอธิบายได้ว่าทำไมผู้คนถึงมีอาการหลังติดเชื้อโควิด-19 แตกต่างกันออกไป และจะเปิดโอกาสให้สามารถที่จะระบุอาการและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก่อนล่วงหน้า

“การค้นพบนี้จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนจำนวนนับล้านได้โดยการเตือนพวกเขาว่าพวกเขาจะเจอกับอาการอะไรถ้าติดเชื้อจะได้ป้องกันตัว จนกว่าจะได้รับวัคซีน หรือสามารถระบุการรักษาที่ถูกต้องกับอาการของพวกเขาเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด”

“และการบอกได้ว่าเขาจะป่วยหนักหรืออาจจะตายได้ถ้าติดเชื้อ ก็สามารถที่จะบังคับประชากรที่กลัววัคซีนทางอ้อมให้พวกเขาไปฉีดวัคซีน”

“ประชากรของหลายพื้นที่ทั่วโลกกำลังต้องการการป้องกันจากโรครร้ายนี้ เราหวังว่างานของเราจะเป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้”

เหล่าสมาชิกทีมวิจัยหวังว่าการค้นพบของพวกเขานั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกเวลา เพราะการคงอยู่ของโควิด-19จะไม่หายจากโลกของเราไป และการที่จะหยุดยั้งความสูญเสียจากโรคระบาดนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

อ้างอิง
http://sciencedaily.com/releases/2021/10/211019082716.htm
http://eurekalert.org/news-releases/931890
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34661368/
https://healthsciences.ku.dk/newsfaculty-news/2021/10/new-covid-19-discovery-could-predict-patient-death-or-hospitalization/
https://www.embopress.org/doi/full/10.15252/emmm.202013714