ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ตรวจฯเขตสุขภาพที่ 12 เผยสถานการณ์โควิด 4 จังหวัด "สงขลา-นราธิวาส-ปัตตานี-ยะลา" เริ่มทรงตัวที่ 2 พันคนต่อวัน ยันวางแผนรับมือ-ขยายเตียงเต็มที่ ให้ยาผู้ติดเชื้อทันที พร้อมระดมฉีดวัคซีนไฟเซอร์


นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 12 เปิดเผยกับ "The Coverage" เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2564 ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่อนข้างคงที่ อยู่ที่ระดับประมาณไม่เกิน 2,000 คนต่อวัน ซึ่งแผนรองรับขณะนี้คือการให้ผู้ป่วยที่มีอาการ และผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางได้รับยาทันที ควบคู่กับการนำวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาฉีดให้กับประชาชนภายในพื้นที่

นพ.สุเทพ กล่าวว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อขณะนี้จะยังทรงตัว แต่ทางพื้นที่ก็ไม่ได้ประมาท และวางแผนรับมือไว้แบบ worst case คือคิดให้เหมือนกับกำลังเป็นขาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนัก (สีแดง) ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จากเดิมที่มีประมาณ 200 เตียง ได้มีการเพิ่มขึ้นมากว่าเท่าตัวเป็น 400 เตียง และได้มีการขยายพื้นที่แยกกักในชุมชน หรือ Community Isolation (CI) เพิ่มขึ้น ร่วมกับโรงพยาบาลสนามต่างๆ ทำให้ขณะนี้มีรวมแล้วกว่า 2 หมื่นเตียง และตั้งเป้าที่จะให้มี CI ในทุกตำบลต่อไป

"CI เรามีทั้งส่วนที่เปิดใหม่โดยใช้พื้นที่โรงเรียน หรือสถานที่ที่มีความพร้อม ขณะที่บางส่วนก็มาจาก Local Quarantine เดิมที่เราใช้กักตัวผู้เดินทางข้ามแดน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนน้อยลง รวมไปถึงการนำ Hospitel เข้ามาช่วยดูแล ขณะนี้เราจึงได้ใช้ทรัพยากรที่มีทุกอย่างเข้ามารองรับสถานการณ์ ลดภาระโรงพยาบาลให้มากที่สุด" นพ.สุเทพ ระบุ

นพ.สุเทพ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในภาพรวมของโควิด-19 ขณะนี้ที่มีอัตราการครองเตียงอยู่ราว 80% ดังนั้นอีกส่วนหนึ่งที่มีการเพิ่มขึ้นและดำเนินการเป็นครั้งแรกภายในพื้นที่ 4 จังหวัดนี้ คือการกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) ซึ่งมีกรมการแพทย์เข้ามาร่วมสนับสนุนในการวางระบบต่างๆ นำโปรแกรมเข้ามาใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน โดยล่าสุดมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เข้าสู่ระบบ HI แล้วประมาณ 4,000 ราย

สำหรับแนวทางสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 คือการปรับให้จ่ายยาเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยาฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ หรือเรมเดซิเวียร์ โดยจะให้กับผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการ หรือหากเป็นกลุ่มเปราะบางก็จะได้รับยาทันทีเมื่อตรวจพบเชื้อ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือการเร่งนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดให้กับประชาชนใน 4 จังหวัดให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน จึงเชื่อว่าหลังจากนี้จะทำให้มีเคสผู้ป่วยหนักลดน้อยลง

นพ.สุเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.ยะลา ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมประชาชนไปแล้วประมาณ 50% ขณะที่ จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี ยังอยู่ที่ประมาณ 40% ซึ่งนับว่าช้าอยู่ ดังนั้นหลังจากนี้จะมีการเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเพิ่มมากขึ้น บนเป้าหมายที่จะให้ได้เป็นประมาณ 70% ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้

"สงขลากับยะลาน่าจะฉีดวัคซีนถึง 70% ภายในสิ้นเดือนนี้ได้ แต่นราธิวาสกับปัตตานี อาจต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้มาเข้ารับการฉีดด้วย เพราะยังมีบางคนที่อาจไม่สนใจ หรือมีความเชื่อที่ทำให้ไม่อยากฉีดวัคซีนอยู่ จึงอยากให้ได้ดูข้อมูลว่าผู้เสียชีวิตจากโควิด 80-90% ล้วนเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นวัคซีนจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้มาก" นพ.สุเทพ กล่าว

นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ขณะนี้ยังต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ร่วมกันเข้มมาตรการป้องกันโรคอยู่เสมอ ซึ่งเชื่อว่าจากมาตรการที่ดำเนินทั้งหมดน่าจะเห็นผลในอีกสัก 1-2 สัปดาห์ ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในส่วนของบุคลากรการแพทย์นั้นเหนื่อยล้าจากภาระงานที่ยืดเยื้อมานาน จึงได้มีการเสริมกำลังบางส่วน รวมถึงเพิ่มค่าตอบแทนหรือค่าเสี่ยงภัยขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจด้วย