ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาหลักที่พบมากในผู้สูงอายุคือ "ปัญหาสุขภาพ" เพราะแน่นอนว่าอายุที่เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ร่างกายเสื่อมถอยลง

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย พบว่า 5 ใน 10 ของผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง หรือปัจจัยเสี่ยงของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

ทั้งนี้ การสำรวจพบอีกว่ามีความชุกของโรคความดันโลหิตสูง 60.7% เบาหวาน 20.4% โรคอ้วน 38.4% ภาวะอ้วนลงพุง 46.5% และภาวะ Metabolic syndrome 39.8%

สำหรับผลดังกล่าวมีที่มาจาก “การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย” ครั้งที่ 6 ปี 2562-2563 ซึ่งเป็นการสำรวจระดับประเทศที่ช่วยเฝ้าระวังสภาวะทางสุขภาพประชาชนไทย โดย ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร และคณะ ที่ได้ทำการสำรวจภาวะโรคเรื้อรังที่พบบ่อย และเป็นภาระโรคสำคัญในผู้สูงอายุ

ผลการสำรวจนี้ได้แบ่งภาวะออกเป็น "โรคทางกาย" และ "โรคทางจิต"

ในส่วนของ "โรคทางกาย" ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดในสมองแตกโรคหัวใจขาดเลือดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ และโรคไตวายเรื้อรัง

โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่เริ่มเป็นปัญหาในวัยกลางคน แล้วต่อเนื่องจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งมักเป็นหลายโรคพร้อมๆ กัน ทำให้มีปัญหาซับซ้อนในการรักษา และควบคุมภาวะแทรกซ้อนของผู้สูงอายุให้เป็นปกติ

จากการสำรวจพบว่า ความชุกของโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มอายุ 60-69 ปี เป็นเพศชาย 53.5% เพศหญิง 56.2% และเมื่ออายุมากขึ้นเป็นกลุ่ม 80 ปีขึ้นไป ความชุกก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 74.7% ในเพศชาย และ 78.5% ในเพศหญิง

นอกจากนี้การสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง 35.8% ไม่ได้รับการวินิจฉัย, 2.5% ไม่ได้รับการรักษา และมี 31.2% ที่ได้รับการรักษาแต่ยังควบคุมความดันโลหิตสูงไม่ได้ โดยมีผู้สูงอายุเพียง 30.6% ที่สามารถควบคุมความดันเลือดได้อยู่ในเกณฑ์

ขณะที่การสำรวจความชุกของโรคเบาหวาน พบในผู้สูงอายุ 60-69 ปี 18.6% ในเพศชาย และ 22.3% ในเพศหญิง โดยความชุกลดลงเมื่ออายุมากขึ้นเป็นกลุ่ม 80 ปีขึ้นไป โดยลดเป็น 13.1% ในเพศชาย และ 18.5% ในเพศหญิง

ด้านการสำรวจโดยการตรวจน้ำตาลในเลือด พบว่ามีผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย 15.9%, ผู้สูงอายุที่ได้รับการรักษาแต่ยังคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามเกณฑ์ 44.8% และสัดส่วนที่สามารถควบคุมได้มี 38.4% โดยมีสัดส่วนของการวินิจฉัยและการควบคุมน้ำตาลได้ตามเกณฑ์ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจฯ ครั้งที่ 5

ในส่วนของ "โรคทางจิต" ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า พบว่ามีความชุกเพิ่มขึ้นตามอายุด้วยเช่นกัน โดยภาวะซึมเศร้าเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของโรคที่มีขนาดภาระโรคสูง ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้พบความชุกของภาวะซึมเศร้าในประชาชนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป เท่ากับ 2.3% โดยความชุกในผู้หญิงที่ 3.1% สูงกว่าผู้ชาย 1.3%