ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แฮชแท็ก #ไฟเซอร์นักเรียน กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ หลังจากมีผู้ใช้บัญชี TikTok ซึ่งเป็นนักเรียนรายหนึ่ง โพสต์คลิปวิดีโอ “ปฏิเสธ” ที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 “ไฟเซอร์” โดยหลังจากคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็ทำให้เกิดคลิปในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นกระแสปฏิเสธวัคซีนในกลุ่มเด็กมัธยมตามๆ กัน

สาเหตุที่ทำให้นักเรียนบางกลุ่มออกมาปฏิเสธการรับวัคซีนไฟเซอร์จนทำให้เกิดเป็นประเด็นร้อนนั้น ก็มีหลากหลายสาเหตุ แต่เรื่องของ “ความกลัว” เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุด

บางคนกลัวว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากวัคซีนในระยะยาว บางคนกลัวความเสี่ยงจากการรับวัคซีนแบบทันทีทันใด บางคนกลัวเข็ม หรือบางคนกลัวว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเหตุผลอื่นๆ ที่ว่าเห็น เพื่อนไม่ฉีดจึงไม่อยากฉีดตามเพื่อน

สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไปนั้น เป็นไปตามเป้าประสงค์ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พ.ย.  2564 นี้  โดยเริ่มฉีดวันแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา

#ไฟเซอร์นักเรียน พุ่งทะยานติดเทรนด์

ด้วยสาเหตุนี้ จึงทำให้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย เช่น “ถ้าไม่ฉีดไฟเซอร์ แล้วจะฉีดวัคซีนอะไร” เพราะวัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และอนุมัติใช้จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้สำหรับกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปในประเทศไทย รวมไปถึงยังผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

นอกจากนี้ ในหลายประเทศก็มีการอนุมัติให้ใช้วัคซีนดังกล่าว ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก สเปน และฝรั่งเศส เป็นต้น  

มากไปกว่านั้น ยังมีนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยบางกลุ่ม ออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “ถ้าเด็กนักเรียนไม่ต้องการฉีด งั้นก็ขอให้เด็กมหา’ลัย ฉีดแทน” เพราะนอกจากกลุ่มเด็กมัธยมที่ต้องการกลับไปเรียนในห้องเรียนแล้ว นักศึกษาเองก็ต้องการกลับไปเรียนออนไซต์เช่นกัน และในตอนนี้มีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19

 ขณะเดียวกัน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางกลุ่ม ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การที่เด็กนักเรียนออกมาปฏิเสธการฉีดวัคซีนนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะ “แต่ละคนก็มีสิทธิที่จะเลือกฉีดหรือไม่ก็ได้”

 จากการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ทำให้ แฮชแท็ก #ไฟเซอร์นักเรียน พุ่งทะยานติดเทรนด์อันดับต้นๆ บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ตั้งแต่คืนวันที่ 6 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา

ปากคำ “อารอน” เด็กมัธยมชาวอเมริกัน ... อยากฉีด แต่ก็ฉีดไม่ได้

การที่เด็กนักเรียนมัธยมปฏิเสธการรับวัคซีนไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว เพราะแม้แต่ประเทศสหรัฐฯ ที่มียอดฉีดวัคซีนสูงลิ่ว ก็ยังเจอปัญหาเดียวกัน แต่ทว่าปัญหาดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับ “กลุ่มผู้ปกครอง” ที่ไม่ต้องการให้ลูกหลานได้รับวัคซีนชนิด mRNA เพราะกลัวว่าวัคซีนดังกล่าว “จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในตัวเด็ก”

อารอน วิลเลี่ยม เป็นชื่อสมมติของเด็กมัธยมชาวอเมริกันวัย 16 ปี ที่ไม่รับอนุญาติจากผู้ปกครองให้ฉีดวัคซีนป้องกันวิด-19

อารอน เปิดเผยผ่านรายการ “The New Yorker Radio Hour” ว่า ผู้ปกครองของเขาเป็นกังวลถึงความเสี่ยงที่ไม่สามารถมีใครล่วงรู้ได้ รวมถึงกังวลว่า วัคซีนชนิดดังกล่าวมีความเสี่ยงทำให้ “ดีเอ็นเอในร่างกายจะเปลี่ยน” หลังจากได้รับวัคซีนในระยะยาว

นั่นทำให้อารอนตั้งข้อสังเกตว่า แล้วทำไมเพื่อนๆ และคุณครูที่ฉีดวัคซีนครบโดสเป็นเดือนๆ ถึงยังสบายดี? ซึ่งอารอนก็ได้รับคำตอบจากผู้ปกครองของเขาว่า “ภายใน 4 ปีพวกเหล่านี้จะค่อยๆ เสียชีวิต เพราะการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรม”

อารอน เล่าต่อไปอีกว่า เขารู้สึกโดดเดี่ยว เพราะการไม่ได้รับวัคซีนทำให้เขาไม่สามารถออกไปรวมกลุ่ม หรือทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ได้ ซึ่งอารอนจะรู้ว่าเพื่อนๆ ของเขา ออกไปรวมกลุ่มทำกิจกรรมกันผ่านข้อความ หรือรูปภาพจากเพื่อนๆ เท่านั้น และเขาก็ไม่เคยได้รับคำเชิญชวนเหล่านั้นเลย เพราะเขายังไม่ได้รับวัคซีน

อารอน เล่าว่า เขาเคยพูดคุยกับผู้ปกครองแล้ว ขณะดูรายการของ ดร. แอนโทนี ฟาวซี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อของสหรัฐฯ ที่กำลังให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน และขอให้ผู้ที่เข้าเกณฑ์ ออกมารับวัคซีนป้องกันโควิด-19

“ไม่เชื่อ” นี่คือสิ่งที่แม่ของ อารอน พูดออกมาทันที พร้อมกับโชว์ข้อความบนเฟซบุ๊กจากผู้ใช้รายหนึ่ง ที่ระบุว่า “วัคซีนไม่ปลอดภัย และมันจะเข้าไปเปลี่ยนยีนในตัวคุณ” แม้อารอนจะพยายามอย่างมากในการแสดงหลักฐานงานวิจัยต่างๆ เพื่อยืนยันว่า “วัคซีนชนิด mRNA นั้นปลอดภัย” แต่ก็จำเป็นต้องยกธงขาว เมื่อการพูดคุย กลายเป็นการทะเลาะกันในครอบครัว

สำหรับในประเทศไทย ขณะนี้มีการส่งต่อความเชื่อว่า “ไฟเซอร์” คือเครื่องมือที่จะล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ใน 2 ปี

mRNA ไม่ได้เปลี่ยนพันธุกรรมมนุษย์

ขณะเดียวกัน WHO ก็ออกมายืนยัน เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมาว่า วัคซีนชนิด mRNA ปลอดภัยเหมือนวัคซีนชนิดอื่น และวัคซีน  mRNA “ไม่สามารถเปลี่ยนพันธุกรรมของผู้รับได้”

สอดคล้องกับข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายถึงการทำงานของวัคซีนชนิด mRNA ไว้ว่า เมื่อฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข้าร่างกาย จะทำให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของไวรัส และโปรตีนที่ผลิตในส่วนนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Antigen) ให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

อย่างไรก็ดี โดยธรรมชาติ สารพันธุกรรม mRNA เหล่านี้จะถูกขจัดออกจากร่างกายภายในระยะเวลาไม่นาน จึง “ไม่สะสมหรือฝังตัวอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ในร่างกาย” ตามที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์

‘กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ’ รักษาหายได้ – เด็กผู้ชายควรฉีดเข็มเดียวก่อน

ในเรื่องของ “ผลข้างเคียง” ก็ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนยังคงกังวล โดยเมื่อวันที่  4 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยขณะร่วมเปิดงาน “Kick off สร้างเกราะป้องกันเด็กวัยเรียนด้วยวัคซีน” ตอนหนึ่งว่า จากข้อมูลผลงานวิจัยในต่างประเทศ ในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA  ได้แก่ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา พบว่ามีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งพบบ่อยกว่าในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชายหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการจะหายไปเองใน 1 สัปดาห์

สำหรับประเทศไทยพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่คณะผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยแล้วว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนเพียง 1 ราย เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี มีภาวะโรคอ้วน แต่สามารถรักษาหายเป็นปกติ

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวผ่านการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียน ตอนหนึ่งว่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบว่ามีความสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน mRNA ส่วนใหญ่เกิดในเด็กชายอายุ 12-17 ปี ในการฉีดเข็มที่ 2 พบประมาณ 6 คนใน 1 แสนคน อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ สำหรับประเทศไทย จากการฉีด 1.3 แสนคน พบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 4 คน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าผลข้างเคียง กระทรวงสาธารณสุขจึงจะฉีดวัคซีนให้เด็กผู้หญิง 2 เข็ม ส่วนเด็กผู้ชายจะฉีดเข็มเดียวก่อน เพื่อติดตามข้อมูลและประเมินผลข้างเคียง ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดี แฮชแท็ก #ไฟเซอร์นักเรียน ก็ไม่ได้พูดถึงแต่กระแสปฏิเสธวัคซีนเพียงอย่างเดียว แต่หากยังมีไว้พูดคุยถึงประสบการณ์ของกลุ่มเด็กนักเรียนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เข้าใจกันบน TikTok รวมไปถึงบอกเล่าปัญหา เช่น อาจจะถูกตัดรายชื่อ เนื่องจากวัคซีนที่ถูกจัดสรรมีไม่เพียงพอ หรือบางกลุ่มถูกเลื่อนการฉีดวัคซีน

ที่มา :
https://www.newyorker.com/news/q-and-a/when-parents-forbid-the-covid-vaccine
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94-19/

https://mgronline.com/qol/detail/9640000098291