ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทย กลายเป็น 1 ใน 5 ของประเทศทั่วโลก ที่ประกาศว่าจะ “เปิดประเทศ” หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขีดเส้นชัดในวันที่ 1 ต.ค. 2564 แต่ที่สุดแล้วก็เลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายน

สำนักข่าวต่างประเทศอย่างซีเอ็นเอ็นและรอยเตอร์ ระบุในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศถัดจาก เดนมาร์ก สิงคโปร์ ชิลี และแอฟริกาใต้ ที่จะเปิดประเทศเพื่อต้อนรับชาวต่างชาติ

แล้วเราจะเปิดประเทศได้จริงไหม !!?

จากโครงการประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าของวัคซีนโควิดที่พึงประสงค์ เพื่อใช้ในการพัฒนาและคัดเลือกวัคซีนสําหรับใช้ในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยทีมวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ถอดข้อมูลจากแบบจำลองสถานการณ์ที่น่าสนใจในประเด็นการเปิดประเทศในกรอบ 120 วัน

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้ก่อตั้ง HITAP บอกว่า หากสามารถจัดหาวัคซีนให้ได้ตามจำนวนที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ คือ 40 ล้านโดสใน 4 เดือน จะสามารถลดการแพร่ระบาดและผู้เสียชีวิตลงได้ประมาณครึ่งหนึ่ง คือระหว่างเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม จะเหลือผู้ติดเชื้อราว 2 แสนคน เสียชีวิตเกือบ 1 หมื่นคน จากเดิมที่สูงกว่านั้นเท่าตัว

การพิจารณาถึงประสิทธิผลวัคซีนกับกลุ่มเป้าหมายยังเป็นประเด็นสำคัญ โดยวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ จะเหมาะกับกลุ่มประชากรอายุ 20-39 ปี โดยวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่อความรุนแรงของโรค เหมาะในการให้ในกลุ่มสูงวัยตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

ในด้านของการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แน่นอนว่าประเทศไทยเองยังคงไม่มีโอกาสของการเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงการเปิดประเทศในอีก 120 วันได้ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อและมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนยังคงไม่เพียงพอ ประกอบกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ระบาดได้ง่าย ทำให้ระดับความครอบคลุมของวัคซีนเพื่อเกิดความคุ้มกันหมู่ ยิ่งสูงขึ้นไป

“เราพบว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ จะสามารถลดความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรค และจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากกว่าวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการลดความรุนแรงของโรคในกลุ่มผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว” ดร. นพ.ยศ ระบุ

หากมองสถานการณ์ตัวเลขจริง พร้อมๆ ไปกับงานวิจัยที่ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอยู่ ซึ่งพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเราจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการตัดสินใจของรัฐบาลนานาประเทศ ที่จะอนุญาตให้ประชากรของพวกเขาเดินทางมายังประเทศไทยหรือไม่

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ระบุว่า การให้วัคซีนโควิด-19 ร่วมกับการใช้มาตรการ Social Vaccine อย่างเข้มข้น คือการเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ ทั้งหมดต้องทำอย่างเคร่งครัด ปัจจุบันแม้ว่าประชากรจะได้รับวัคซีนไปแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ มาตรการ social vaccine ยังคงเป็นกุญแจสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19

“งานวิจัยชิ้นนี้ หากผู้กำหนดนโยบายพิจารณานำข้อเสนอจากงานวิจัยใช้ในการเลือกและฉีดวัคซีนให้กับคนไทย ควบคู่ไปกับความร่วมมือของคนในประเทศกับการปฏิบัติตามมาตรการ Social Vaccine การเปิดประเทศน่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ อาจจะไม่ใช่ภายใต้กรอบระยะเวลา 120 วัน แต่บนความพร้อมทางสุขภาพของคนไทย ที่จะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเพียงพอต่อการต่อสู้กับโรค และขับเคลื่อนประเทศได้ต่อไป” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวทิ้งท้าย