ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในปี 2021 นี้ ควรจะเป็นปีที่ดีปีหนึ่งเลยสำหรับประเทศญี่ปุ่น เพราะโตเกียวโอลิมปิกส์และพาราลิมปิกส์ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพนั้น ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากทั่วทุกมุมโลก แม้จะเป็นมหกรรมกีฬาที่รับนักกีฬานานาชาติเข้าประเทศและปราศจากผู้ชมในสนามก็ตามที

แต่ท่ามกลางความสำเร็จนั้น สถานการณ์โควิด-19 ในญี่ปุ่นกลับไม่ได้ดีตามไปด้วย หลังจากจบโอลิมปิกส์เกมไปได้ไม่นาน ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อรวมกันทั่วประเทศก็ทะยานขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ในช่วงระหว่างวันที่ 9 ส.ค- 5 ก.ย. ตัวเลขผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 15,000 – 26,000 เคสต่อวัน แต่ที่พุ่งทะยานสูงสุดคือวันที่ 22 ส.ค. 2564 ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ทำสถิติสูงที่สุดในรอบปี โดยอยู่ที่ 26,121 เคสภายในวันเดียว

นี่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในระบบของญี่ปุ่นนั้นแตะอยู่ที่ราวๆ 200,000 ราย ทั้งที่เมื่อย้อนไปเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อในระบบมีไม่เกิน 15,000 ราย และยอดการเสียชีวิตก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน

วันที่ 2 ก.ย. เพียงวันเดียว มีผู้เสียชีวิตรวม 82 ราย ซึ่งกำลังกลับมาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากเคยมียอดเสียชีวิตสูงสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2021 ที่ 227 ราย ภายในวันเดียว ก่อนที่จะลดต่ำลงมาในช่วงเดือนมิ.ย. และ ก.ค.

ทั้งหมดนี้รายงานตรงกันว่าเป็นเพราะการมาถึงของสายพันธุ์เดลต้า (Delta Variant) ที่เริ่มพบในญี่ปุ่นช่วงสิงหาคมพอดิบพอดีนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นก็มียอดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สูงพอสมควร โดยฉีดให้ประชากรไปแล้ว 133 ล้านโดส มีประชาชนฉีดสองโดสไปทั้งสิ้น 59.6 ล้านคน คิดเป็น 47.2% (ตัวเลขเมื่อวันที่ 4 ก.ย.) โดยญี่ปุ่นนั้นใช้วัคซีนของ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตราเซเนก้า

ถึงอย่างนั้น แม้จะฉีดวัคซีนไปจำนวนไม่น้อยแล้ว แต่ด้วยการทะยานขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อ ทำให้ล่าสุดมีการรายงานจากหลายสื่อว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 21 จังหวัด ครอบคลุมประชากรราวๆ 80% ที่ประกาศมาตั้งแต่ 23 พ.ค. และจะหมดอายุในวันที่ 12 ก.ย.ออกไปอีก

และก่อนหน้านี้ก็มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาเรื่อยๆ สลับกับผ่อนคลายมาตั้งแต่เมษายน ปี 2563

แต่ก็ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่า ประกาศต่ออายุครั้งนี้จะกินเวลาอีกเท่าไหร่ แต่เชื่อกันว่าน่าจะต่อออกไปไม่เกิน 3 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน

มาตรการจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ 21 จังหวัดต้องปฏิบัติตาม มีตั้งแต่ลดการเดินทางและให้ทำงานที่บ้าน 70% งดการพบปะสังสรรค์ งดการออกนอกบ้านหลัง 20.00 น. และธุรกิจต่างๆ ก็ต้องปิดหลัง 20.00 น. เช่นเดียวกัน

เหตุผลหลักๆ ก็หนีไม่พ้นการที่จะพยายามลดตัวเลขผู้ติดเชื้อลงให้ได้ และจะได้ลดภาระของระบบสาธารณสุขที่ต้องรับมือการจัดการโรคระบาดให้ผ่อนคลายมากขึ้น

ผู้ว่าราชการฯ โอชาก้า “ฮิโรฟุมิ โยชิมุระ” ให้ความเห็นต่อแผนการขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลกลางไว้ว่า “มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

ที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือ การขยายเวลานั้นอาจจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นองค์ประกอบด้วย เพราะนายกรัฐมนตรี “โยชิฮิเดะ ซึกะ” นั้นกำลังจะลงจากตำแหน่ง หลังจากประกาศลาออกไปเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา

การลงจากตำแหน่งครั้งนี้จะนำไปสู่การสรรหาผู้นำคนใหม่จากพรรครัฐบาล LDP เพื่อเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี มีการคาดการณ์กันว่า การจัดแจงทางการเมืองอาจจะแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนกันยายน

นี่จึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลปัจจุบันนั้นวางแผนต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้ก่อน เพื่อที่จะควบคุมโรคระบาดเอาไว้ให้ไม่ลุกลามกว่าที่เป็นอยู่ จนกว่าที่จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป

สอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจะต่อออกไปจาก 12 ก.ย. ไปอีก 3 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน ซึ่งจะทำให้เมื่อหมดอายุประกาศแล้วนั้น รัฐบาลใหม่ก็จะผลัดมือเข้ามาดูแลและบริหารประเทศต่อไป

เมื่อมองจากสถานการณ์ในญี่ปุ่นแล้วนั้น ต่อให้แม้ไม่ได้มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยว ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตก็ยังชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ฉุกเฉินและมาตรการฉุกเฉินก็ยังคงจำเป็นอยู่

มาจับตาดูกันว่า ญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ ทั้งยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ กับสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แนวโน้มของสถานการณ์โควิด-19 ในญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรต่อไป

อ้างอิง