ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การให้บริการสุขภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ต้องหยุดชะงักภายใต้ความกดดันของโรคระบาด

เพราะหน่วยบริการหลายแห่งทั่วโลกจำเป็นต้องผันทรัพยากรทางการแพทย์และงบประมาณเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคที่ป้องกันได้จึงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโรคและเครือข่ายนานาชาติ อันรวมถึงรัฐบาลในประเทศพัฒนาและองค์กรนานาชาติ จึงเร่งสนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณแก่ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง เพื่อให้ระบบสุขภาพของประเทศนั้นๆยังคงความสามารถในการให้บริการสุขภาพที่จำเป็น แม้ว่าทรัพยากรด้านสาธารณสุขจะมีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย

การสนับสนุนเกิดขึ้นในรูปแบบโครงการด้านสุขภาพที่อิงอยู่กับบริบทด้านสุขภาพของประชากร และความต้องการของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในแต่ละประเทศ

ตัวอย่างมีให้เห็นตั้งแต่ ประเทศบุรุนดีในแอฟริกา ซึ่งองค์การอนามัยโลกสนับสนุนองค์ความรู้การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวี การรักษา และการจัดการผู้ป่วยโรคเอดส์ในระหว่างโรคระบาด

ไปจนถึงประเทศคีร์กีซสถานและอุซเบกิสถานในเอเชียกลาง ซึ่งองค์การอนามัยโลกและมหาวิทยาลัยจอน์หฮอบกินส์ ร่วมกันให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการทำนโยบายให้สารอาหารและความรู้ด้านการบริโภคอาหารแก่นักเรียน เพื่อป้องกันนักเรียนจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ในด้านการส่งเสริมและป้องกันโรค เจ้าหน้าสาธารณสุขของสาธารณรัฐชาดในแอฟริกากลาง ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกและโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ผ่านการฝึกอบรมตรวจหาเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อจากแม่สู่เด็ก และให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสแต่เนิ่นๆ  

องค์การอนามัยโลกยังสนับสนุนประเทศไนจีเรีย ทำมาตรการตรวจเชื้อโรควัณโรคเชิงรุก พร้อมๆกับการตรวจเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงการรักษา

เนปาล เป็นอีกหนึ่งประเทศที่องค์การอนามัยโลกและรัฐบาลนอร์เวย์ให้ความช่วยเหลือในช่วงโรคระบาด โดยสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้แก่กระทรวงสาธารณสุขแห่งเนปาล เพื่อเดินหน้าให้บริการป้องกันและรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังภายใต้วิกฤตโรคระบาด

กระทรวงสาธารณสุขแห่งกัมพูชา ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร (UNFPA) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) และองค์การอนามัยโลก ในการทำแนวทางปฏิบัติสำหรับดูแลแม่และเด็กในช่วงโรคระบาด

เช่น วิธีการติดตั้งฉากกั้นโควิด-19 ในสถานบริการ การบริหารจัดการห้องกักตัวสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด ทำให้หญิงตั้งครรภ์ 206 คนที่ติดเชื้อสามารถให้กำเนิดบุตรอย่างปลอดภัย (ข้อมูลระหว่างวันที่ 18 เม.ย. – 6 ก.ค. ที่ผ่านมา)

ในด้านนวัตกรรม ประเทศอิหร่านได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี จากเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ทำให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสารของอิหร่าน สามารถให้บริการสายด่วนให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตแต่เดิม และผู้ป่วยใหม่ที่มีภาวะความกังวลและความเครียดจากโรคระบาดโควิด-19

ส่วนประเทศจาไมกา องค์การอนามัยโลกและองค์การอนามัยแพนอเมริกัน (PAHO) ทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นอบรมบุคลากรสาธารณสุขและในโรงเรียนมากกว่า 50 คน เพื่อเสริมองค์ความรู้สำหรับให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่นักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นในช่วงโรคระบาด เพราะมาตรการปิดโรงเรียนและการจำกัดการเดินทาง

สำหรับการยกระดับสถานพยาบาล รัฐบาลอังกฤษให้งบประมาณเกือบ 2,000 ล้านบาทในโครงการ Smart Hospital ซึ่งยกระดับสถานพยาบาลให้ทนต่อภัยธรรมชาติ เช่น พายุ และน้ำทะเลหนุน อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยมี 7 ประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ดอมินีกา เซนต์ลูเซีย เกรเนดา  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ จาไมกา เบลีซ และกายอานา 

เช่นเดียวกับประเทศกัวเตมาลาในแถบอเมริกากลาง ซึ่งได้รับความเหลือด้านงบประมาณและความรู้จากกองทุนตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งสหประชาชาติ (UNCERF) องค์การอนามัยโลก และองค์การอนามัยแพนอเมริกัน ในการสร้างโรงพยาบาลสนามหลังเกิดพายุโซนร้อนอีต้าและโลต้า ซึ่งทำลายโครงสร้างพื้นฐานและอาคารหลายแห่ง  

นี่เป็นเพียงตัวอย่างจำนวนหนึ่งที่สะท้อนความพยายามขององค์การอนามัยโลกและเครือข่ายนานาชาติ ในการยกระดับและเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นในประเทศกำลังพัฒนา

แม้ว่าโรคโควิด-19 จะสร้างอุปสรรคต่อการให้บริการสุขภาพที่จำเป็น แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆก็ไม่สามารถปล่อยให้บริการเหล่านี้หยุดชะงัก เพราะนั่นย่อมหมายถึงความเสี่ยงที่ประชาชนจะเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น หรือนำไปสู่การเสียชีวิต  

อ้างอิง
https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/partnering-to-ensure-essential-health-services-during-the-pandemic