ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 12 ปรับกลยุทธ์เร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 มุ่งให้ได้ตามเป้า 70% ผุดมอบรางวัล-ประกาศเกียรติคุณ เพื่อกระตุ้นแต่ละอำเภอ ล่าสุดพบยอดการฉีดในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น


นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งครอบคลุมเขตภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัด รวมถึงจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดถึง 4 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา จะต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงให้ได้ 70% ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 12 ได้เพิ่มการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ให้มากที่สุด ด้วยการนำวัคซีนไปฉีดให้กับประชาชนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงหรือผู้สูงอายุที่เดินทางลำบาก จะมีบุคลากรการแพทย์ไปฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน โดยมุ่งเป้าการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 608 คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์

นพ.สุเทพ กล่าวว่า พร้อมกันนี้ได้มีการกระตุ้นให้แต่ละอำเภอฉีดให้ได้ตามเป้าหมาย ด้วยการมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณอำเภอที่ฉีดวัคซีนได้ 70% เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นแรงผลักดันให้พื้นที่อื่นๆ เร่งรัดตามมา โดยเมื่อแต่ละอำเภอสามารถดำเนินการสำเร็จ ก็จะทำให้ภาพรวมการฉีดวัคซีนของจังหวัดและเขตสุขภาพเกิดความครอบคลุม

"ล่าสุดการฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยข้อมูลถึงวันที่ 2 ก.ย. 2564 เขตสุขภาพที่ 12 ได้ฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ไปแล้ว 523,372 คน คิดเป็น 48.79% ซึ่งผลดีการการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมคือ จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่ หรือหากมีประชาชนติดเชื้อโควิด-19 จะช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้" นพ.สุเทพ กล่าว

สำหรับอำเภอที่ได้รับรางวัลแล้ว ประกอบด้วยใน จ.สงขลา อำเภอนาหม่อม นาทวี เมืองสงขลา ควนเนียง หอยโข่ง หาดใหญ่ สิงหนคร บางกล่ำ, ใน จ.ยะลา อำเภอเบตง เมืองยะลา, ใน จ.ปัตตานี อำเภอไม้แก่น เมืองปัตตานี โคกโพธิ์, ใน จ.นราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส สุคิริน สุไหงโก-ลก, ใน จ.ตรัง อำเภอเมืองตรัง, ใน จ.พัทลุง อำเภอเมืองพัทลุง ตะโหมด เขาชัยสน บางแก้ว และใน จ.สตูล อำเภอมะนัง

นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในเขตสุขภาพที่ 12 ได้มีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีน หรือเรียกว่า ศูนย์สู้ภัยโควิด-19 ชุมชน ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลพื้นฐานในชุมชน มีบทบาทในการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 แบบครบวงจร เฝ้าระวังบุคคลเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง คัดกรองกลุ่มเสี่ยงในชุมชนด้วย ATK โดยทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายตั้งแต่ระดับปฐมภูมิถึงตติยะภูมิ และใช้กลไก 3 หมอที่มีอยู่