ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกฯ แถลงชี้แจงสภาประเด็นจัดซื้อวัคซีน ย้ำไทยโชคดีถูกเลือกเป็นฐานการผลิตแอสตร้าฯ ได้วัคซีนมากกว่า COVAX-ตัดสินใจไม่พลาด ชูติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศฉีดต่อวันได้สูงสุด เตือนการด้อยค่าวัคซีน อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างปท.


เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้แถลงชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยในส่วนของการจัดหาวัคซีน ได้ระบุว่า ตลาดวัคซีนเป็นตลาดของผู้ขาย ไม่ใช่ตลาดของผู้ซื้อ แต่รัฐบาลก็ได้ทำทุกวิถีทาง โดยติดต่อกับผู้นำประเทศผู้ผลิตวัคซีน ผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตวัคซีนชนิดต่างๆ รวมถึงการใช้ช่องทางทางการทูตและเอกชน ช่วยติดต่อขอซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตประเทศต่างๆ มาโดยตลอด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไทยโชคดีที่บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เลือกโรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนสำหรับกระจายในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน จึงทำให้ไทยอยู่ในสถานะที่มีความมั่นคงด้านการจัดหาวัคซีนสูงกว่าประเทศอื่นๆ รัฐบาลตัดสินใจเลือกเจรจาซื้อวัคชีนโดยตรงจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เพื่อใช้เป็นวัคซีนหลักภายในประเทศ

ขณะเดียวกันได้เสริมด้วยซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย ผลิตด้วยเทคโนโลยีดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง แต่ราคาอาจสูงกว่าบ้างเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ผลิตยากกว่า ก็เป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมในบริบทที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น

"ไทยได้เร่งฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 31 ล้านโดส ไทยฉีดวัคซีนเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน เป็นอันดับที่ 25 ของโลก โดย 1 หนึ่งล้านโดสแรกใช้เวลา 54 วัน ครบ 10 ล้านโดสแรกใช้เวลา 124 วัน 10 ล้านโดสต่อมาใช้เวลาเพียง 36 วัน 10 ล้านโดสล่าสุดใช้เวลาลดลงเหลือเพียง 20 วัน ผมต้องขอขอบคุณความทุ่มเทอย่างที่สุดของทุกภาคส่วน ที่ช่วยกันทำงานจนทำให้ประเทศไทยกลายเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ฉีดวัคซีนต่อวันได้มากที่สุดในโลก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ตั้งแต่แรก ก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่เป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลได้ผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวม เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนเอง (Self-financing participants) ทำให้ช่วงเวลานั้นหากรัฐบาลเข้าร่วมโครงการ จำเป็นต้องวางเงินมัดจำในวงเงินที่สูง และมีเงื่อนไขจำกัดหลายประการ อีกทั้งยังไม่สามารถกำหนดเวลารับวัคซีนได้

สำหรับหลายประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วม COVAX ได้รับวัคซีนแล้วจาก COVAX ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก บางประเทศได้รับเพียงหลักแสนถึงล้านต้นๆ เมื่อเทียบโควตาการจองกับจำนวนที่ได้รับจริง สำหรับประเทศไทยได้รับแอสตราเซเนก้าโดยตรงจากบริษัท จำนวน 13.8 ล้านโดส จาก 61 ล้านโดส ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงกว่าหลายประเทศในอาเซียนที่ได้รับจากโรงการ COVAX

ในส่วนของการปรับกลยุทธ์เรื่องวัคซีน เพื่อรับมือไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า ซึ่งแพร่กระจายเชื้อได้เร็วขึ้นหลายเท่าตัว และผู้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น วัคชีนรุ่นแรกของทุกยี่ห้อมีประสิทธิภาพลดลง เมื่อต้องเผชิญกับไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า ประเทศที่ฉีดด้วยวัคซีน mRNA เป็นหลัก และฉีดครอบคลุมจำนวนประชากรของประเทศ ประมาณ 70% เช่น อิสราเอล หรือสหรัฐอเมริกา ต่างก็ประสบปัญหา

ทั้งนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ คณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญของไทยก็พยายามศึกษาหาแนวทางการฉีดวัคชีนแบบไขว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัคซีนสูงขึ้น และฉีดในระยะเวลาที่เร็วขึ้น สอดรับกับการป้องกันการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้ดีขึ้น 

"เหตุผลที่รัฐบาลยังใช้ซิโนแวค WHO ย้ำเสมอว่าวัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิภาพกันป่วย กันตาย ซึ่งซิโนแวคเป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่มั่นใจได้ว่าผลข้างเคียงน้อยอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ซิโนแวคสั่งซื้อแล้วพร้อมส่ง ตามจำนวนและเวลาที่เราต้องการ และใช้ในการฉีดไขว้ซิโนแวคและแอสตราเซเนก้า สร้างภูมิต้านทานได้ในเวลาที่สั้นกว่า เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์เดลด้าแพร่กระจายง่ายและเร็ว และขอให้ระมัดระวังการด้อยค่าวัคซีน เพราะอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ