ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ประเมินคนไทยยุคโควิด-19 พบความเครียด-ซึมเศร้า-หมดไฟ หนุน "บรรณบำบัด" เยียวยาจิตใจด้วยหนังสือ ด้านเครือข่ายนักเขียน-สสส.-สธ.ร่วมเปิดโครงการพลังวรรณกรรมฯ ปี 2 เสริมพลังการเขียน-อ่าน


แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ธนาคารจิตอาสาและเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม ร่วมกันจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ "พลังวรรณกรรมเพื่อเสริมสร้างพลังชีวิต: อ่านยาใจ" ปีที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการประเมินสุขภาพจิตของประชาชนในยุคโควิด-19 ทั่วประเทศ จำนวน 1.3 แสนราย พบว่าโดยสรุปแล้วประชาชนทั่วไปมีภาวะความเครียด มาจาก 4 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1. ภาวะซึมเศร้า 59.93% 2. ความเครียดสูง 53.47% 3. ความคิดทำร้ายตัวเอง 36.99% 4. ภาวะหมดไฟ 23.66%

พญ.มธุรดา กล่าวว่า ซึ่งสถิตินี้เป็นสัญญานอันตรายต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทางกรมสุขภาพจิตจึงได้ระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมกันหารือ เพื่อหาทางช่วยให้ประชาชนผ่านวิกฤตนี้โดยไม่ต้องพบจิตแพทย์ ในที่สุดจึงใช้วิธีดั้งเดิมในอดีตที่เคยใช้ได้ผลมากว่าร้อยปี ด้วยการทำบรรณบำบัด หรือการบำบัดจิตด้วยหนังสือ (Bibliotherapy)

สำหรับวิธีดังกล่าว เป็นวิธีที่คนเยียวยาตนเองด้วยการวาดรูปและเขียนหนังสือ รวมถึงการระบายความรู้สึกผ่านไดอารี่ เมื่อนำไปทดสอบทางการแพทย์ด้วยการทำ MRI พบว่าสมองของคนที่ชอบเขียนและอ่านหนังสือมีการกระตุ้นการทำงานทุกส่วน ส่งผลให้ลดความเครียด นอนหลับได้โดยไม่ต้องพึ่งยา

"โครงการการอ่านยาใจ นอกจากจะเป็นโครงการประกวดงานเขียนแล้ว ทุกคนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้ระบายความรู้สึกให้ผ่านพ้นความทุกข์ เป็นการแชร์ความรู้สึกร่วมกัน ได้สร้างพลังใจร่วมกันระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน อย่างไรก็ตามการหยิบหนังสือมาอ่านเหมือนการหยิบโดสยามาใช้ให้ถูกโรค ซึ่งแต่ละโรคต้องใช้ยาที่แตกต่างกัน" พญ.มธุรดา กล่าว

นางชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 กล่าวว่า เมื่อใจมีปัญหาต้องหาวิธีเยียวยาใจ บางคนยังไม่รู้ตัวว่าหัวใจต้องการอะไรต้องแก้ไขอย่างไร ดังนั้นผู้ป่วยใจต้องสังเกตอาการของตัวเอง และหาวิธีรักษาด้วยการพลิกมุมมองจากข้างใน เฉกเช่นกระบวนการของการอ่านและการเขียนที่เปรียบเป็นวัคซีนใจ ส่วนหนังสือเปรียบเป็นเม็ดยา

"เมื่อหยิบหนังสือมาอ่านก็เหมือนกับการกินยารักษา เมื่อรักษาหายแล้วยังสามารถส่งต่อวิธีรักษานี้กับผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้อ่านวรรณกรรมยาใจที่ทางคณะกรรมการโครงการได้คัดสรร ระยะที่ 1 เช่น ขวัญสงฆ์, ความสุขของกะทิ, ความสุขแห่งชีวิต ซึ่งหนังสือเหล่านี้มีเนื้อหาที่ดีเหมาะกับการอ่านเติมพลังใจและสามารถหาซื้ออ่านได้ตามร้านหนังสือทั่วไป" นางชมัยภร กล่าว

ด้าน นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า โครงการดังกล่าว สสส.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายริเริ่มขึ้นในปี 2563 เพื่อให้ทุกคนนำพลังการอ่านสร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจ พร้อมสู้ภัยโควิด-19 โดยจัดประกวดเรื่องสั้น “วันทุกข์ที่ผ่านพ้น” ซึ่งมีผลงานส่งเข้าร่วมกว่า 300 เรื่อง ขณะนี้ได้นำผลงานชนะการประกวดเผยแพร่ทาง www.happyreading.in.th

นางสุดใจ กล่าวว่า สำหรับปี 2564 โครงการอ่านยาใจฯ ปีที่ 2 ได้จัดกิจกรรมประกวดเรื่องสั้น และบทกวี “ภูมิคุ้มใจในวันทุกข์” เพื่อให้เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้ใช้พลังของการเขียนและการอ่าน รวมถึงศิลปะหลากแขนง ช่วยผ่อนเบาความทุกข์ คลายความเครียด สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองและสังคม

"เชื่อว่าพลังของการเขียนและการอ่าน เปรียบเหมือนวัคซีนทางความคิด สามารถนำไปใช้ป้องกันแรงกระแทกจากความทุกข์ที่ฉับพลัน และช่วยเยียวยาให้คนออกจากความเครียด ที่สำคัญผู้เขียนยังได้ตีแผ่เรื่องราวความทุกข์ที่สามารถหาวิธีจัดการจนผ่านพ้นได้ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้นำไปปรับใช้ต่อสู้กับชีวิตและอยู่ต่อไป" นางสุดใจ กล่าว