ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานานๆ ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไม่ต้องสงสัย พนักงานออฟฟิศหรือคนที่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์จนลืมเวลามักเผชิญกับโรค Office Syndrome เป็นปกติ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงมีคำแนะนำว่าใน 1 ชั่วโมง ควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างน้อย 10 นาที

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตัวมันเองนับเป็นวิกฤตด้านสุขภาพ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เราอาจเห็นผลกระทบต่อเนื่องด้านสุขภาพอื่นๆ ตามมา หากแต่เราสามารถป้องกันได้ตั้งแต่ตอนนี้

แล้วผลกระทบที่ว่าคืออะไร?

การเรียนออนไลน์ การทำงานจากที่บ้าน (WFH) รวมไปถึงการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส หรือสวนสาธารณะ ล้วนทำให้กิจกรรมทางกายของผู้คนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สิ่งเหล่านี้ส่งผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ หรือ Non-Communicable diseases (NCDs) ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต

"The Coverage" ได้พูดคุยกับ "นพ.ไพโรจน์" เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะตัวจริงเสียงจริงในการขับเคลื่อนประเด็นนี้

โควิดทำกิจกรรมทางกายคนไทยถอยหลัง 10 ปี

นพ.ไพโรจน์ เล่าว่า ย้อนหลังกลับไปประมาณ 10 ปี กิจกรรมทางกายหรือ Physical Activity ของคนไทยอยู่ที่ราวๆ 55% หรือหมายความว่าในคนไทย 100 คน จะมีอยู่ 55 คน ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอตามคำแนะนำของ WHO

คำแนะนำดังกล่าวคือ ให้มีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายระดับปานกลางถึงหนักมากอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งกิจกรรมทางกายในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา แต่กินความไปถึงการเดินทาง การยืน การเดิน กิจกรรมสันทนาการต่างๆ เป็นต้น

แล้วจากตัวเลข 55% นั้น ก็ค่อยๆ ขยับขึ้นเรื่อยๆ 1-2% ต่อปี ผ่านแคมเปญต่างๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งตัวเลขกิจกรรมทางกายของคนไทยก็ขยับขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็น 74.6% ในปี 2562

นพ.ไพโรจน์ ให้ตัวเลขจากอีกฐานข้อมูลหนึ่งที่ทำคู่ขนานกัน พบว่าคนไทยใช้เวลานั่งนิ่งๆ วันละประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวัน ในที่นี้นับรวมเวลาการนอนด้วย ซึ่งเขาระบุว่าทาง สสส. ใช้สองตัวเลขนี้ในการมอนิเตอร์กิจกรรมทางกายของคนไทย

ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา กลับพบว่าตัวเลข 74.6% นี้ถอยหลังกรูดไปถึง 10 ปี กลับไปอยู่ที่ 55% เช่นเดิม

"พอโควิดมาปุ๊บ มีมาตรการล็อคดาวน์ปิดสถานที่ต่างๆ เราก็ทำการศึกษาพบว่าตัวเลขลดลงมาอยู่ที่ 55% แล้วคนก็นั่งนิ่งๆ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 14 ชั่วโมง ถ้าถามว่ากังวลไหม มันไม่ได้ตกใจขนาดนั้น เพราะมันร่วงก็จริง แต่มันแค่ช่วงสถานการณ์หนึ่ง เพราะอย่าลืมว่า Physical Activity มีความเปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่เหมือนการสูบบุหรี่ กินเหล้า หรือลดน้ำหนัก ที่ต้องใช้ระยะเวลา แต่การออกกำลังกาย วันนี้นั่งนิ่ง พรุ่งนี้ออกไปวิ่งได้เลย มันเปลี่ยนกลับได้เร็ว" นพ.ไพโรจน์ ให้มุมมอง

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่มีการคลายล็อกดาวน์เมื่อกลางปี 2563 ทาง สสส. ได้ทำการสำรวจตัวเลขอีกครั้ง และพบว่า Physical Activity กลับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 65% ส่วนระยะเวลาการนั่งเฉยๆ ที่เคยขึ้นไปถึง 14 ชั่วโมง ก็กลับลดลงมาเหลือประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวัน

"จะเห็นว่ากลับขึ้นมาเร็ว แสดงว่าต้นทุนดี คนอยากออกกำลังกายอยู่แล้ว" นพ.ไพโรจน์ ให้ความมั่นใจ 

"แต่ทั้งนี้เราก็กลัวบางคนที่เฉื่อยแล้วเฉื่อยเลย พอเลิกออกกำลังกาย เลิกขยับ ก็จะติดเป็นนิสัย แล้วหลังจากนี้มันจะเริ่มคงทนถาวร บางคนไม่ได้ออกกำลังกายแล้วจะเนือยไปเลย" ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. ย้ำความห่วงใย

แน่นอนว่าด้วยสถานการณ์โควิดขณะนี้ทุกคนต้องร่วมกันล็อคดาวน์ก่อน แต่ นพ.ไพโรจน์ ให้ทางเลือกว่าหากไม่ออกกำลังกายวิถีเดิม ก็มาออกกำลังกายวิถีใหม่ได้ หรือออกกำลังกายโดยใช้พื้นที่น้อย ไม่เน้นการรวมกลุ่ม เพราะ สสส.จะยังคงส่งเสริมการออกกำลังกายอยู่ เพียงแต่ส่งเสริมในรูปแบบใหม่

กิจกรรมลด-เสี่ยงโรคเพิ่ม โดยเฉพาะ 'ผู้สูงอายุ'

ปัจจุบันมาตรการล็อกดาวน์กลับมาเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง สวนสาธารณะที่เคยเปิดอยู่ ในเวลานี้ถูกสั่งปิดอีกครั้งนับตั้งแต่มีการระบาดระลอก 3 จึงมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขกิจกรรมทางกายของคนไทยจะลดลงอีก

นพ.ไพโรจน์ อธิบายถึงผลกระทบของการไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย ว่าอันดับแรกคือสุขภาพของเราเอง ซึ่งในระยะสั้นอาจเพียงทำให้เราไม่กระชุ่มกระชวย แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดโรคภัยที่มาจากพฤติกรรม นั่นคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs

"การไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย เป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรค NCDs ซึ่งตอนนี้คนไทยเสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้มากถึง 3 ใน 4 ของการตายทั้งหมด ฉะนั้นหากเราอยู่นิ่งๆ ในช่วงนี้ ก็อาจจะเห็นผลในระยะยาวว่าจะมีโรค NCDs มากขึ้น" นพ.ไพโรจน์ ให้ภาพ

"โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากลูกหลานจะไม่ให้ออกไปไหน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโควิค ถ้าใครที่ได้ทำงานบ้าน ได้ขยับเคลื่อนไหวก็จะดีหน่อย แต่ถ้าคนไหนไม่ได้ออกเลย อยู่นิ่งๆ ก็จะยิ่งแย่ลง แล้วกลุ่มผู้สูงอายุจะอันตรายตรงที่มักจะมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว การไม่ขยับเลยยิ่งทำให้โรคประจำตัวที่มีอยู่แล้วแย่ลง" เขาให้ข้อมูลเสริม

นพ.ไพโรจน์ ยกตัวอย่างถึง โรคเบาหวาน ซึ่งการขยับกับการไม่ขยับร่างกายนั้น จะทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลต่างกันมาก จึงน่ากังวลว่าหากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวแล้วไม่ออกกำลังกายอีก แถมยังอยู่ว่างๆ นิ่งๆ และมีการกินเยอะกว่าเดิมด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้โรคที่เป็นอยู่เดิมรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมได้

ทั้งนี้ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. จึงแนะนำให้สมาชิกในครอบครัวสร้างกิจกรรมร่วมกัน ให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือสร้างช่องทางออนไลน์ให้ผู้สูงอายุด้วยกันได้สื่อสารพูดคุย เพื่อลดความเครียดหรือความรู้สึกเศร้า ซึ่งการจะทำได้นั้นต้องมาพร้อมกับการเพิ่มทักษะดิจิทัลให้แก่ผู้สูงอายุ

ทางออกหลังโรคระบาดคลี่คลาย

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในการควบคุมการระบาดเป็นอันดับแรก แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว นพ.ไพโรจน์ ได้ให้ข้อเสนอว่ารัฐจำเป็นต้องกลับมาส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายวิถีใหม่

ทั้งนี้ ควรเปิดกว้างให้เกิดการเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะ โดยควบคุมกำกับให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงอาจมีมาตรการเยียวยา เช่น ให้ฟิตเนสเซ็นเตอร์สามารถประกอบกิจการต่อได้ การลดภาษีอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น

"ส่วนระดับปัจเจก เราก็ต้องหาความรู้ พยายามสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน สิ่งแวดล้อมรอบตัว และใช้พลังของกลุ่มในครอบครัวช่วยกันส่งเสริมกระตุ้นให้ออกกำลังกาย เพราะความรู้อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องส่งเสริมให้รู้แล้วเอาไปทำต่อ" นพ.ไพโรจน์ ระบุ

เขายังอ้างถึงงานวิจัยของ WHO ที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ปัจจัยที่จะมีผลคือการทำ "Social Media Advocate" หรือการกระตุ้นผ่านแคมเปญเป็นระยะๆ ที่จะทำให้คนตื่นตัวอยู่เสมอและเปลี่ยนวิธีกระตุ้นไปเรื่อยๆ คนจะได้ไม่เบื่อ

สำหรับชีวิตวิถีใหม่เพื่อรองรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เขาแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ การให้ความสำคัญต่อสุขอนามัยส่วนบุคคล เป็นการสร้างภูมิต้านทานอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การกินอาหารที่มีประโยชน์ การล้างมือ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมสุขภาพปกติอยู่แล้วที่ต้องทำ ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันไปขับเคลื่อนในระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยแวดล้อม

"จงทำให้การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน" นพ.ไพโรจน์ ทิ้งท้าย