ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาองค์กรของผู้บริโภค เร่ง "ประกันสังคม" เพิ่มสายด่วนช่วงโควิด รองรับผู้ประกันตนกว่า 13 ล้านคน พร้อมเรียกร้องให้ออกมาตรการที่ชัดเจน ทั้งระบบ "Home-Community Isolation"


น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยตอนหนึ่งในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลผู้ประกันตนที่ติดโควิด-19 โดยเฉพาะการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญาประกันสังคม และการเข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)

น.ส.สุภัทรา ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมามีจำนวนพนักงานในสถานประกอบการหลายรายที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลผ่านระบบประกันสังคมได้ เนื่องจากไม่สามารถโทรเข้าไปติดต่อเบอร์สายด่วน 1506 ของ สปส.ได้ จึงมองว่า สปส.ควรเร่งดำเนินการระบบรับเรื่องร้องเรียน โดยเพิ่มคู่สายให้มากเพียงพอกับจำนวนผู้ประกันตนในระบบที่มีถึงประมาณ 13 ล้านคน

นอกจากนี้ยังจะเรียกร้องให้ สปส. กำหนดมาตรการถึงโรงพยาบาลคู่สัญญาทันที เพื่อให้มีความชัดเจนว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ว่าจะสามารถเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation : HI) และการดูแลในชุมชน (Community Isolation : CI) กับโรงพยาบาลคู่สัญญา หรือโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิรักษาได้ ซึ่งมีอยู่ถึงกว่า 300 แห่งทั่วประเทศได้อย่างไร

"ตอนนี้ดำเนินการล่าช้ามาก ประกันสังคมจะทำงานแบบปกติไม่ได้ จะต้องปรับตัวให้เร็วกว่านี้ เนื่องจากมีผู้ประกันตนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก มีความเป็นความตายอยู่ทุกวัน ดังนั้นจะต้องเพิ่มจำนวนคู่สายเพื่อรับเรื่องร้องเรียนไปอย่างน้อย 300-400 คู่สาย เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนผู้ประกันตน ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำพรุ่งนี้เลย ไม่ต้องรออีกหลายวัน" น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ที่อาจยังเข้าไม่ถึงการตรวจหรือการรักษา รวมทั้งการเยียวยาต่างๆ สปส.ก็จะต้องเร่งให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วย ไม่ควรเลือกปฏิบัติอย่างยิ่ง เพราะแม้จะเป็นแรงงานข้ามชาติแต่เขาเหล่านั้นก็ส่งเงินสมทบให้กับ สปส. ด้วยเช่นเดียวกัน

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ตัวอย่างการผลักดันระบบ HI ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนเช่นเดียวกับ สปส. นั้นมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ขณะที่ผู้ประกันตนเองยังไม่ได้รับสิทธิเหล่านั้น ดังนั้น สปส.จะต้องเร่งรีบดำเนินการในเรื่องเร่งด่วนโดยไม่ทำให้เกิดความล่าช้า

ทั้งนี้ ทางสภาฯ ได้มีข้อเสนอไปยัง สปส. เพื่อเร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ติดเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย 1. ต้องเร่งรัดพัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนอย่างน้อยให้ได้ 300 ถึง 400 คู่สาย เพื่อเปิดรับปัญหาของผู้ประกันตนที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ 2. ต้องออกประกาศให้ผู้ประกันตนทุกคนสามารถไปตรวจคัดกรองที่หน่วยคัดกรองโควิดได้ในเครือข่ายของประกันสังคม หรือโรงพยาบาลคู่สัญญาทั้งหมด

3. ต้องออกมาตรการให้โรงพยาบาลคู่สัญญาทำระบบ HI หรือ CI ทุกแห่ง เพื่อรองรับผู้ประกันตนที่อยู่ในขั้นสีเขียว ที่สามารถรักษาตัวเองได้ที่บ้าน 4. ต้องช่วยเหลือผู้ประกันตนทุกคน ทั้งผู้ประกันตนในมาตรา 33, 39 และ 40 ทั้งที่เป็นแรงงานคนไทยและต่างชาติ อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ 5. ต้องรีบจัดหาวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนให้เพียงพอ สำหรับแรงงานคนไทยและต่างชาติ อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ

ด้าน นายสมชาย กระจ่างแสง ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า นอกจากนี้ในเรื่องการเยียวยานั้น สปส.ควรมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกันตนทุกคน เนื่องจากผู้ประกันตนทุกคนจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทุกเดือนด้วยเช่นเดียวกัน หาก สปส. มองว่าทุกคนได้รับผลประทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ควรที่จะเยียวยาให้กับผู้ประกันคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน