ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงเกษตรฯ เปิดแนวรุกใช้สมุนไพรไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 จับมือ สธ.-สภาการแพทย์แผนไทย ระดม 6 พันคลินิก-ฮอทไลน์สายด่วน ร่วมรักษาผู้ป่วย จ่อคิกออฟผ่าน "เพชรบุรีโมเดล"


นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงมากขึ้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้เร่งส่งเสริมพืชสมุนไพรและตำรับยาไทยเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยผนึกความร่วมมือกับสภาการแพทย์แผนไทย และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ทั้งนี้ จากการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง กษ. และ สธ. รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นพ้องต้องกันว่าพร้อมดำเนินแนวทางการแพทย์ทางร่วม ระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย โดยใช้สมุนไพรและตำรับยาไทยควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน

สำหรับแนวทางดังกล่าว มี 3 แนวทางในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 1. แนวทางการป้องกันการติดเชื้อโดยใช้เครื่องยาสมุนไพรและตำรับยาไทย 2. แนวทางการรักษาผู้ป่วยด้วยยาแผนปัจจุบัน เครื่องยาสมุนไพรและตำรับยาไทย 3. แนวทางการฟื้นฟูผู้ป่วยหลังการรักษาโดยเฉพาะกรณี Long COVID Syndrome

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากสภาการแพทย์แผนไทย ระบุว่าปัจจุบันมีคลินิกแพทย์แผนไทย 6,000 คลินิก และแพทย์แผนไทยกว่า 30,000 คน รวมทั้งศูนย์ฮอทไลน์แพทย์แผนไทย ที่มีอยู่ทุกภาค นอกจากนี้ยังมีคลีนิคจิตอาสาแพทย์แผนไทยอีก 60 แห่ง และคลังยาสมุนไพรและตำรับยาไทย ของสภาการแพทย์แผนไทย ที่พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขณะที่กรมแพทย์แผนไทยฯ ให้ข้อมูลว่ามีแพทย์แผนไทยประจำโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และมีการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าควรเริ่มทดสอบแนวทางการแพทย์ทางร่วม ที่โรงพยาบาลสนาม จ.เพชรบุรี ซึ่งมีความพร้อมมากที่สุดเป็นแห่งแรก ตามข้อเสนอของ พ.อ.นพ.พงศพศักดิ์ ตั้งคณา โดยให้มีการจัดกลุ่มผู้ป่วยตามกลุ่มยา และให้ตรวจเลือดผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการบำบัดรักษาเพื่อวัดผลลัพธ์ โดยหากได้ผลดีจะขยายผลต่อไป

"จากการประชุมต่อเนื่องในภายหลังร่วมกับ จ.เพชรบุรี พบว่า ผวจ.เพชรบุรี เห็นด้วยและพร้อมดำเนินการในการรักษาผู้ป่วยตามแนวทางการแพทย์ทางร่วม ขณะที่ สสจ.เพชรบุรี ยินดีที่จะดำเนินการทันทีที่มีคำสั่งจาก สธ. ให้สามารถดำเนินการทดสอบดังกล่าว โดย พ.อ.นพ.พงศ์ศักดิ์ แจ้งว่าพร้อมร่วมดำเนินการทดสอบและจะเป็นผู้สนับสนุนเครื่องยาและตำรับยาไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย เบญจโลกวิเขียร (5ราก) จันทน์ลีลา เป็นต้น"  นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ ยังกล่าวอีกว่า กษ.ได้ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมสมุนไพรไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติ 2. ด้านการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร 3. ด้านวัตถุดิบสมุนไพร 4. ด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร 5. ด้านส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร

"ล่าสุด รมว.กษ.ได้สั่งการให้ กษ.สนับสนุนและร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาล โดยใช้ 3 แนวทางคือป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ด้วยสมุนไพรและตำรับยาไทยเสริมการแพทย์แผนปัจจุบัน พร้อมกับชี้แนะว่าประเทศจีนคือตัวอย่าง ของประเทศที่ใช้สมุนไพรและตำรับยาจีนควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันสู้กับโควิด-19 จนประสบความสำเร็จ ซึ่งสมุนไพรและตำรับยาไทยใช้มาหลายร้อยปีได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยประชาชนคนไทยมาในแต่ละยุคแต่ละสมัยให้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้" นายอลงกรณ์ กล่าว