ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เผย 4 สัปดาห์ จ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 395 ราย เป็นเงิน 7,572,300 บาท


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิ.ย. 2564 มีผู้ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ จำนวน 519 ราย คณะอนุกรรมการของแต่ละเขตได้พิจารณาจ่ายให้ 395 ราย รวมเป็นเงิน 7,572,300 บาท อยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 66 ราย และมีอีก 58 ราย ที่พิจารณาแล้วไม่อนุมัติการจ่ายเยียวยา

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของระดับอาการที่มีการจ่ายเยียวยานั้น เป็นผู้มีอาการเล็กน้อย เยียวยาไม่เกิน 10,000 บาท จำนวน 309 ราย อาการปานกลาง เยียวยา 10,000-50,000 บาท 60 ราย เยียวยามากกว่า 50,000 บาทอีก 13 ราย และมีกรณีที่อาการรุนแรงจนถึงขั้นพิการอีก 2 ราย

ในส่วนของผู้เสียชีวิตนั้น มีการเยียวยาทั้งหมด 10 ราย ดังนี้ ปทุมธานี 2 ราย, ตาก 1 ราย, แพร่ 1 ราย, สงขลา 1 ราย ภูเก็ต 1 ราย, นนทบุรี 1 ราย, กาญจนบุรี 2 ราย และสมุทรสาคร 1 ราย ขณะที่กรณีทุพพลภาพถาวรนั้น 1 รายที่ จ.ชัยนาท 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าว ไม่ใช่การพิสูจน์ถูกผิดว่าการเสียชีวิตเกิดจากวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ เพราะทางคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำหน้าที่ส่วนนั้น แต่ของ สปสช.จะช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบไปก่อนและเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ใดๆก็จะได้รับการดูแล แม้ว่าต่อให้มีการพิสูจน์ในภายหลังว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากวัคซีนก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด

"วัคซีนโควิด-19 ที่เราใช้กันอยู่นี้ เป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นระยะเวลาในการวิจัยพัฒนาก็จะสั้นกว่าวัคซีนปกติ ผลข้างเคียงต่างๆอาจจะมีบ้าง แต่เมื่อชั่งน้ำหนักกับความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว การฉีดวัคซีนมีข้อดีมากกว่า ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยจึงตัดสินใจให้ประชาชนฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม เราก็จะเยียวยาดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนด้วย" นพ.จเด็จ กล่าว

ทั้งนี้ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง โดยสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330