ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แจงกรณีไทยเข้าร่วมโครงการ "โคแว็กซ์" ระบุเพียงเข้าไปทาบทามกลไกแลกเปลี่ยนวัคซีน คนละส่วนกับการเจรจาจัดซื้อ ยันไทยอยู่ฐานะประเทศผู้บริจาค-รอแจกวัคซีนให้ประเทศอื่น


นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2564 ถึงกรณีที่ กต.ได้สั่งการให้คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ทาบทามกลไกจากโครงการโคแว็กซ์ภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นการจัดทำความตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีน (Vaccine Swap Arrangement)

สำหรับความตกลงดังกล่าว เป็นการจัดทำความตกลงระหว่างสองฝ่าย โดยประเทศหนึ่งประสงค์ขอรับวัคซีนจากอีกประเทศที่ยังไม่มีความต้องการใช้ หรือที่มีเกินความต้องการมาใช้ก่อน และจัดส่งคืนภายหลังเมื่อมีวัคซีนในประเทศเพียงพอ โดยการจัดทำความตกลงนี้เป็นแนวปฏิบัติที่หลายประเทศทำอยู่ เช่น ระหว่างเกาหลีใต้ กับสหรัฐอเมริกา

นายธานี กล่าวว่า การจัดทำความตกลงการแลกเปลี่ยนวัคซีน เป็นเรื่องที่แยกจากการเจรจาความตกลงจัดซื้อวัคซีนหรือเข้าร่วมโครงการโคแว็กซ์ และเป็นเพียงมิติหนึ่งของความร่วมมือที่ฝ่ายไทยสามารถมีกับโครงการโคแว็กซ์เท่านั้น ขณะที่ในอีกมิติของความร่วมมือระหว่างไทยกับโครงการโคแว็กซ์ คือในแง่ของการเป็นประเทศผู้บริจาค

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2563 รัฐบาลไทยได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,000,000 บาท ให้แก่ข้อริเริ่มส่งเสริมการวิจัย จัดสรร ผลิตวัคซีน หรือ The Access to COVID-19 Tools (ACT) Accelerator ผ่าน WHO เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและจัดสรรวัคซีนและยาในฐานะเป็นสินค้าสาธารณะของโลก

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยจะสนับสนุนเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,000,000 บาท ผ่านกลไก ACT Accelerator มอบให้โครงการโคแว็กซ์โดยตรง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัคซีนสำหรับประชาคมโลก นอกจากนี้ ไทยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกับโครงการโคแว็กซ์ในอนาคต โดยการบริจาควัคซีนที่ผลิตในไทยให้กับโครงการโคแว็กซ์ เมื่อไทยมีวัคซีนเพียงพอสำหรับในประเทศแล้ว

"ดังนั้นการทาบทามจัดทำความตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีน เป็นเพียงหนึ่งมิติของความร่วมมือที่ฝ่ายไทยกำลังดำเนินการกับโครงการโคแว็กซ์ ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินการทุกๆ ด้านที่เป็นไปได้ ไม่มองข้ามโอกาสต่างๆ ในการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทย เช่นเดียวกับกรณีที่ กต.ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงประธานาธิบดีปูติน เพื่อจัดซื้อวัคซีนสปุตนิก 5 ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดี" นายธานี กล่าว

นายธานี กล่าวอีกว่า กต.ยังได้ทาบทามทำความตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีนกับประเทศอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากโครงการโคแว็กซ์ อาทิ อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้รับข้อเสนอของไทยไปพิจารณา และบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ได้แจ้งตอบมาแล้วว่ายังเผชิญกับภาวะขาดแคลนวัคซีนในประเทศ