ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บุรีรัมย์” ออกประกาศสั่งประชาชนในพื้นที่ทำแบบประเมินคัดกรองโควิด-19 หากเป็นกลุ่มเสี่ยง จนท.มีอำนาจสั่งให้ฉีดวัคซีน ฝ่าฝืนมีความผิด


คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ออกประกาศเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ “กลุ่มเสี่ยง” ที่อยู่ใน จ.บุรีรัมย์ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้ที่ฝ่าฝืนระวางโทษทั้งปรับและจำคุก

สำหรับประกาศฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ทำการประเมินตนเองตามแบบประเมินความเสี่ยงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดบุรีรัมย์ ต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)หรือผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 13-31 พ.ค. 2564 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่จัดกลุ่มการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฯ 

2. ในกรณีที่เจ้าพนักงานพบหรืออาจตรวจพบว่าบุคคลมีความเสี่ยง หรืออาจมีความเสี่ยงที่จะติดโรคติดเชื้อฯ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้บุคคลดังกล่าว ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนตามวัน เวลา และสถานที่ ที่กำหนด 

3. หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามข้อ 1 มีโทษตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามข้อ 2 มีโทษตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.พิเชษฐ พืดขุนทด สสจ.บุรีรัมย์ กล่าวกับ “The Coverage” ว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.บุรีรัมย์ ฉบับที่ 13/2564 โดยมุ่งเน้นที่จะให้คนในจังหวัดลงทะเบียนแบบประเมินความเสี่ยงโรคติดต่อ มีเป้าหมายคือเพื่อจัดกลุ่มบริการวัคซีน

นพ.พิเชษฐ กล่าวว่า เมื่อมีการทำแบบประเมินไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะมาประเมินความเสี่ยงเป็นรายบุคคลอีกครั้ง หากพบว่าบุคคลนั้นมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อ เจ้าพนักงานควบคุมโรคก็จะสั่งให้มีการฉีดวัคซีน 

“ถ้าประเมินแล้วไม่มีความเสี่ยง หรือมีข้อห้ามก็ไม่ต้องฉีด” นพ.พิเชษฐ กล่าว

นพ.พิเชษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทะเบียนเป็นการให้ข้อมูลเพื่อจัดกลุ่มบริการ ซึ่งก็มีความสำคัญ ตาม พ.ร.บ โรคติดต่อ 2558 กรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถเรียกข้อมูล หรือความจำเป็นที่จะดำเนินการเพื่อแก้ไปขปัญหาโรคระบาดนี้ได้ มาตรา 45(1) ซึ่งทางจังหวัดได้หารือทางข้อกฎหมายกับทางอัยการจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว