ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีคำแนะนำสำหรับการฉีด "วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19" ร่วมกับ "วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล" เพื่อคลายข้อสงสัยในการปฏิบัติเพื่อรับวัคซีนทั้ง 2 โรค เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายและช่วงกำหนดระยะเวลาการรับวัคซีนที่ใกล้เคียงกัน

๐ กรณีที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน > เว้นอย่างน้อย 1 เดือน > ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และ 2 ต่อไป

๐ กรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค (Sinovac) เข็มที่ 1 ไปแล้ว
ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ก่อน (ภายใน 2-4 สัปดาห์) > เว้นอย่างน้อย 1 เดือน > ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

๐ กรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 1 ไปแล้ว
(ทางเลือกที่ 1) เว้นอย่างน้อย 1 เดือน > ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ > เว้นอีกอย่างน้อย 1 เดือน > ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 (ภายใน 10-12 สัปดาห์)
(ทางเลือกที่ 2) รอฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 (ภายใน 10-12 สัปดาห์) > เว้นอย่างน้อย 1 เดือน > ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

“ระหว่างรอจองสิทธิฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ในเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป ขณะนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถเข้ารับการฉีดได้แล้ว ดังนั้นในระหว่างนี้ขอให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน เพื่อที่จะรับวัคซีนโควิด-19 ต่อไป” นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ระบุ

#สำหรับกลุ่มเป้าหมายวัคซีนไข้หวัดใหญ่
1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
7. โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

#ประโยชน์ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงโควิด-19
- ลดความสับสนระหว่าง 2 โรค
- ลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุ
- ลดภาระของระบบสุขภาพในการจัดการกับโควิด-19