ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยเครือข่าย สวรส. เปิดผลการศึกษาโครงการนำร่อง “รับยาใกล้บ้าน” ระบุ ช่วยลดเวลาการรอคอย-เพิ่มเวลารับคำปรึกษาได้จริง


ที่ประชุมคณะกรรมการวิเคราะห์ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายและติดตามการดำเนินนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 ซึ่งมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน ได้รับทราบข้อเสนอผลการวิจัย “ประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ระยะที่ 2” ซึ่งพบว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้รับบริการและผู้ให้บริการเป็นอย่างมาก

ดร.รุ่งนภา คำผาง นักวิจัยเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สังกัดมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูล 15 โรงพยาบาล ใน 13 เขตสุขภาพ และร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ พบว่าโครงการช่วยลดระยะเวลาในการรอรับยาและลดเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้ป่วย เฉลี่ย 58 นาที

นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีเวลาปรึกษาเภสัชกรเพิ่มขึ้น 3 นาที ลดความแออัดในโรงพยาบาลได้เฉลี่ย 8.5% ต่อโรงพยาบาล และประหยัดต้นทุนการเดินทางของผู้ป่วยได้ 71% เมื่อเทียบกับการรับยาที่โรงพยาบาล

สำหรับผลสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ พบว่าผู้ป่วยพึงพอใจมาก โดยเฉพาะเรื่องการลดเวลารอคอยรับยา ความสะดวกในการเดินทาง และความกระตือรือร้นของเภสัชกรในการให้คำปรึกษา ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่เข้าร่วมโครงการ ให้เหตุผลว่ามีความต้องการพบแพทย์ทุกครั้ง ไม่มีร้านยาใกล้บ้าน เดินทางไม่สะดวก ไม่มั่นใจคุณภาพร้านยา และบางรายไม่ทราบว่าตนเองเข้าร่วมโครงการนี้ได้

“จากการศึกษาอธิบายผลได้ว่า ผู้ป่วยใช้เวลารอรับยาที่ร้านยาไม่นาน การเดินทางสะดวก ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเภสัชกรยังมีเวลาในการอธิบายการใช้ยาเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือลดความเสี่ยงในการติดโรคระบาดได้ และยังพบด้วยว่า หากแพทย์เป็นผู้แนะนำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ ผู้ป่วยมีแนวโน้มตอบรับเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น” ดร.รุ่งนภา กล่าว

อนึ่ง เมื่อปี 2563 มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการนำร่องฯ 141 แห่ง จากเป้าหมาย 50 แห่ง ส่วนร้านยาเข้าร่วมโครงการ 1,081 แห่ง จากเป้าหมาย 500 แห่ง

สำหรับโครงการดังกล่าว จะจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค โดยวางแผนดำเนินการใน 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 โรงพยาบาลเป็นผู้จัดยาให้ผู้ป่วยเป็นรายบุคคลและส่งยาไปที่ร้านยาใกล้บ้าน รูปแบบที่ 2 โรงพยาบาลนำยาไปสำรองไว้ที่ร้านยา และให้เภสัชกรร้านยาเป็นผู้จัดและจ่ายยาให้ผู้ป่วยรายบุคคลตามใบสั่งแพทย์ รูปแบบที่ 3 ร้านยาเป็นผู้จัดซื้อยาสำรองยา จัดและจ่ายยาให้กับผู้ป่วยรายบุคคลตามใบสั่งแพทย์ แล้วเบิกค่ายาจากโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบที่ 1 และ 2 เท่านั้น ส่วนรูปแบบที่ 3 ยังมีข้อจำกัดด้านความแตกต่างของราคายาที่บริษัทจะขายให้โรงพยาบาลและร้านยา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนารูปแบบที่ 3 โดยให้องค์การเภสัชกรรมมาช่วยจัดซื้อ คาดว่าจะดำเนินการได้จริงในเดือน มิ.ย. 2564 นี้