ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เปิด "สายด่วนจ่ายเงินเร็ว" ให้โรงพยาบาลโทรสอบถามข้อสงสัยการเบิกจ่ายค่าบริการ พร้อมให้คำตอบในทันที หวังช่วยลดข้อผิดพลาด-ลดระยะเวลา โรงพยาบาลได้เงินไปหมุนเวียนเร็วขึ้น


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เพื่อให้การดำเนินการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยบริการต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ทาง สปสช. ได้จัดตั้งสายด่วนจ่ายเงินเร็ว หรือ Help Desk ซึ่งจะเป็นคลินิกให้คำปรึกษาแก่โรงพยาบาล ตลอดจนคำแนะนำการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

ทั้งนี้ สายด่วนที่จัดตั้งขึ้นมา 6 เลขหมาย ประกอบด้วยเบอร์ 02-142-3100 ถึง 3 เบอร์ 061-402-6368 และเบอร์ 090-197-5129 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการอื่นๆ ใช้ในการโทรศัพท์ติดต่อสอบถามปัญหาข้อสงสัยในการเบิกจ่ายเงิน โดยทั้ง 6 สายจะมีลักษณะการตอบข้อสงสัยต่างๆ แบบทันที รวมถึงให้ข้อแนะนำอื่นๆ ที่จะทำให้การบันทึกในระบบการเบิกจ่ายเงินได้รวดเร็วขึ้น

"เช่น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสงสัยว่ารายการนี้จะบันทึกในรายการขอเบิกจ่ายอย่างไร เดิมถามมาแล้ว สปสช. อาจตอบกลับใน 1-2 วัน แต่ระหว่างนั้นโรงพยาบาลอาจจะส่งเบิกมาแล้ว พอ สปสช. มาตรวจดูก็พบว่าไม่ถูกต้อง ต้องเสียเวลากลับไปบันทึกรายการมาใหม่ การจ่ายเงินก็จะล่าช้าออกไป แต่สายด่วนทั้ง 6 สายนี้เมื่อมีข้อสงสัยถามมาก็จะตอบให้ทันที ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลตั้งแต่ต้นทาง โรงพยาบาลก็จะได้รับเงินค่าบริการเร็วขึ้นนั่นเอง" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ปัจจุบัน สปสช. ได้ปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยจากเดิมที่มีรอบการจ่ายทุก 1 เดือน เป็นจ่ายทุกครึ่งเดือน หรือเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับให้เร็วขึ้นอีก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่หน่วยบริการ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน เพราะเมื่อมีสภาพคล่องดีขึ้น ก็จะมีความคล่องตัวในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ได้มากขึ้นด้วยนั่นเอง

สำหรับการปรับรอบดังกล่าว จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามในส่วนของงบรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่" หรือ UCEP และ UCEP COVID นั้นมีการเบิกจ่ายให้โรงพยาบาลทุก 15 วันอยู่แล้ว  

นอกจากนี้ สปสช.ยังได้พยายามสนับสนุนการให้บริการของโรงพยาบาลต่างๆ ในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับกรณีติดเชื้อโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจคัดกรอง การรักษาผู้ที่ติดเชื้อแล้ว การใช้จ่ายในการรับส่งผู้ป่วย รวมทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel เป็นต้น

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ยังได้มีการปรับรอบการจ่ายกรณีการคัดกรองสำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) ให้จ่ายเร็วขึ้นเป็นทุก 15 วัน ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลที่ดูแลมีกระแสเงินสดที่จะนำไปหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย โดยไม่กระทบการบริหารจัดการในส่วนอื่นของโรงพยาบาล ดังนั้นการจัดตั้งสายด่วนจ่ายเงินเร็วทั้งหมดนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่โรงพยาบาลให้มากที่สุด ลดความกังวลหรือข้อติดขัดด้านการเงิน

"เราต้องการให้โรงพยาบาลได้ทุ่มเทกับการรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจาก สปสช. ร่วมเป็นหน่วยงานจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ขอให้มั่นใจว่าผู้ติดเชื้อที่สายด่วน สปสช. 1330 ประสานขอเตียงให้นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์เบิกจ่ายค่าชดเชย ทางโรงพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างแน่นอน" นพ.จเด็จ กล่าว