ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส.ขับเคลื่อน 'การแพทย์จีโนมิกส์' ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขายาและวัคซีน เตรียมผลักดันการตรวจยีนแพ้ยาครอบคลุมในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง-จัดตั้งศูนย์แพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่ EEC


นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยในการประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ว่า การขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทยในระยะแรก สวรส.จะผลักดันให้การตรวจยีนแพ้ยาครอบคลุมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

ขณะเดียวกันจะเร่งดำเนินการประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพื่อจัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Whole Genome Sequencing Center) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนยังมีแผนที่จะลงนามความร่วมมือกับ Genomics England เพื่อพัฒนาการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

สำหรับแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย จะเป็นส่วนหนึ่งต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) ในสาขายาและวัคซีน ซึ่งมีเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการผลิต บนแนวคิดการยกระดับบริการการแพทย์จีโนมิกส์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการให้บริการอย่างทั่วถึงระดับประเทศ

นอกจากนี้ ภายในการประชุมยังได้มีการนำเสนอผลวิจัยของ สวรส. เพื่อพัฒนาระบบการวัด วิเคราะห์ และปรับปรุงผลการดำเนินการของระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ และการบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายในประเทศไทย โดยงานวิจัยได้พัฒนาตัวชี้วัดประสิทธิผลของการดูแลสุขภาพที่แตกต่างจากตัวชี้วัดเดิม ให้เป็นตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับการดูแลประชาชนแต่ละคนที่ควรได้รับตามวัยหรือโรคประจำตัว

นพ.นพพร กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายของงานวิจัยนี้ จะเสนอต่อคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนและปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย และแนวทางของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการทางสุขภาพของประชาชนได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมนำตัวชี้วัดอย่างน้อย 4 ตัวไปใช้

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. จำนวนชั่วโมงเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ในระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิต่อประชากร 10,000 คน 2. ดัชนีภาวะความเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 3. ดัชนีการยอมรับที่ผู้ป่วยมีให้กับการบริการสุขภาพปฐมภูมิ 4. ดัชนีคุณค่าของการดูแลสุขภาพปฐมภูมิในภาพรวมของหน่วยบริการ