ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอเฉลิม’ เผย ‘บางกอก เชนฯ’ เตรียมเปิดศูนย์วิเคราะห์สารพันธุกรรม คาดเสร็จภายในปี 67 นี้ หลังเริ่มวางแผน-ตั้งเครื่องมือแล้ว หวังให้บริการเฉพาะเจาะจง-ลดค่าใช้จ่ายในการส่งตรวจแล็บนอก ย้ำ เป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์เฉพาะเจาะจง ลดความเสี่ยงเกิดโรคจากพันธุกรรม 


ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพานิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ภายในปี 2567 นี้จะมีการขยายศูนย์วิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (Genomics Center) ภายใต้ Bangkok Chain Laboratory Center ซึ่งเป็นแล็บกลาง (Center LAB) ของเครือบางกอกเชนฯ ที่ปัจจุบันให้บริการการตรวจวิเคราะห์เลือดทั่วไป ผลพยาธิวิทยาจากชิ้นเนื้อ ฯลฯ โดยขณะนี้มีเครื่องมือบางส่วนแล้ว และกำลังเริ่มวางแผน พร้อมเตรียมติดตั้งเครื่องมือเพิ่มเติม

“สำหรับศูนย์วิเคราะห์รหัสพันธุกรรมต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นถอดรหัสพันธุกรรมนั้นจะมีความเฉพาะกับผู้ป่วยมากขึ้น แต่เรื่องการรักษาเราจะมีแล็บกลางเข้ามาช่วยอยู่แล้ว เรามีมาตรฐานที่ผ่าน ISO มีการส่งตรวจกันอยู่แล้ว ฉะนั้นส่วนนี้จะลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการส่งไปตรวจข้างนอกได้ด้วย” นพ.เฉลิม กล่าว 

ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลในเครือบางกอก เชนฯ ก็ได้มีการร่วมมือกับบริษัท และห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ภาคเอกชนที่มีมาตรฐานในการให้บริการ รวมถึงได้ให้บริการตรวจหาเพศบุตรระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยเปลี่ยนจากการเจาะน้ำคร่ำเป็นการตรวจเลือดที่พบว่ามีประสิทธิภาพสูง รวมถึงมีการขยายขอบเขตบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง หรือโรคที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ฯลฯ

ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตความสนใจของประชาชนจะมุ่งมาที่เรื่องสุขภาพมากขึ้น และความต้องการต่อวิวัฒนาทางการแพทย์ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีการแพทย์ที่เปลี่ยนไปสามารถตอบโจทย์ได้เฉพาะเจาะจงรายบุคคล อีกทั้งในอีกด้านหนึ่งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ  ซึ่งผลจากศูนย์วิเคราะห์รหัสพันธุกรรมเหล่านี้จะบ่งชี้ถึงอนาคต เพราะโรคเหล่านี้เมื่อรู้ก่อนก็สามารถป้องกันได้ รวมถึงถ้าตรวจเจอก่อนในระยะแรกๆ ยังรักษาจนหายได้ อีกทั้งในอนาคตโรงพยาบาลในเครือบางกอก เชนฯ อาจมีบริการเรื่องสเต็มเซลล์ด้วย

“การแพทย์จีโนมิกส์เป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ความเสี่ยงในการเกิดโรคที่มาจากพันธุกรรมที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคน ทั้งโรคมะเร็ง หรือโรคจากต่อมไร้ท่อ ซึ่งทำให้สามารถพยากรณ์โรคได้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันก่อนการเกิดโรคที่อาจจะเกิดจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการเกิดโรคได้” ศ.ดร.นพ.เฉลิม ระบุ