ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเรื่องมาตรฐานการบริการเวชศาสตร์จีโนมของสถานพยาบาล มุ่งกำหนดมาตรฐานการให้บริการเวชศาสตร์จีโนม และคุ้มครองประชาชนผู้รับบริการ


ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง “มาตรฐานการบริการเวชศาสตร์จีโนมของสถานพยาบาล” ซึ่งลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สธ. โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ การกำหนดมาตรฐานการให้บริการเวชศาสตร์จีโนม และคุ้มครองประชาชนผู้รับบริการ

สำหรับประกาศฉบับดังกล่าว ได้จำกัดความ “เวชศาสตร์จีโนม” (Genomic Medicine) หมายถึง การแพทย์ที่อาศัยเทคโนโลยีพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล เพื่อประเมินความเสี่ยง วินิจฉัย และพยากรณ์โรค พร้อมทั้งนิยาม “บริการเวชศาสตร์จีโนม” ไว้ว่า การให้บริการเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ การวินิจฉัย การแนะนำการใช้ยา การดูแลรักษาพยาบาล พยากรณ์โรค การประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรค และการป้องกันโรคโดยอาศัยศาสตร์หรือเทคโนโลยีพันธุศาสตร์ในระดับโมเลกุล รวมถึงการให้คำปรึกษา การติดตามผลการบริการเวชศาสตร์จีโนม

ตอนหนึ่งของประกาศ ระบุว่า สถานพยาบาลที่ให้บริการเวชศาสตร์จีโนมต้องจัดให้มีหนังสือแสดงความยินยอมให้ผู้รับบริการทุกรายลงนามรับรองความสมัครใจในการขอรับบริการเกี่ยวกับเวชศาสตร์จีโนม โดยก่อนที่จะให้บุคคลดังกล่าวลงนามในหนังสือแสดงความยินยอมและก่อนการให้บริการทุกครั้ง ผู้ให้บริการต้องอธิบายให้ความรู้ในเรื่องขั้นตอนตลอดกระบวนการให้บริการ ระบุวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูลผู้รับบริการ ภาวะแทรกซ้อนของการบริการ รวมทั้งการเก็บข้อมูลไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการให้บริการ ที่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการซักถาม ทั้งนี้ให้แจ้งระยะเวลาการเก็บข้อมูลพันธุกรรมไว้แก่ผู้รับบริการด้วย

“ข้อมูลพันธุกรรมรายบุคคลเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของบุคคลผู้นั้น โดยบุคคลจะขอยกเลิกการเก็บข้อมูลเมื่อใดก็ได้ หากสถานพยาบาลต้องการยกเลิกการเก็บข้อมูลพันธุกรรม สถานพยาบาลต้องประสาน หรือแสดงหลักฐานการติดต่อผู้รับบริการให้รับทราบก่อนดาเนินการ ทั้งนี้การยกเลิกการเก็บข้อมูลพันธุกรรมอาจเป็นไปตามรายละเอียดในหนังสือแสดงความยินยอมระหว่างสถานพยาบาล และผู้รับบริการที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้รับบริการสามารถแสดงความจำนงให้ผู้ที่ตนเองระบุไว้หรือทายาทโดยธรรมนำข้อมูลพันธุกรรมส่วนบุคคลไปใช้ก็ได้” ประกาศ สธ. ระบุ

สำหรับหนังสือแสดงความยินยอม ประกาศ สธ. ฉบับนี้ ระบุว่า ให้ทำไว้ 2 ฉบับ โดยให้เก็บไว้ที่สถานพยาบาลหนึ่งฉบับ และให้เก็บไว้ที่ผู้รับบริการหนึ่งฉบับ โดยหนังสือแสดงความยินยอมและคำอธิบาย ให้เป็นไปตามแบบที่ผู้อนุญาตประกาศกำหนด

นอกจากนี้ ประกาศ สธ. ยังได้กำหนดลักษณะของสถานพยาบาลที่ให้บริการเวชศาสตร์จีโนม แบ่งเป็น 1. สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ได้แก่ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลเฉพาะประเภทผู้ป่วย โรงพยาบาลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลทันตกรรม โรงพยาบาลการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 2. สถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ได้แก่ คลินิกเวชกรรมและเวชกรรมเฉพาะทาง คลินิกทันตกรรมและทันตกรรมเฉพาะทาง คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และคลินิกเฉพาะทางการพยาบาล

ทั้งนี้ ยังมีรายละเอียดข้อกำหนดอื่นๆ เพิ่มเติม โดยสามารถอ่านประกาศฉบับเต็มได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/282/T_0010.PDF